สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค “รู้ทันสถานการณ์ จับตาโรคอุบัติใหม่ และภัยสุขภาพจากน้ำท่วม”

          วันนี้ (11 กันยายน 2567) แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค ร่วมดำเนินการแถลงข่าวในหัวข้อ “รู้ทันสถานการณ์ จับตาโรคอุบัติใหม่ และภัยสุขภาพจากน้ำท่วม” พร้อมแนะนำวิธีรับมือโรคและภัยสุขภาพในช่วงนี้

          โควิด 19 แนวโน้มผู้ป่วยลดลง สายพันธุ์ที่พบระบาดมากหลักในปัจจุบัน คือ JN.1 ข้อมูลวันที่ 7 มกราคม - 7 กันยายน 2567 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 38,236 ราย เสียชีวิต 201 ราย โดยระหว่างวันที่ 1-7 กันยายน 2567 พบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 314 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้เสียชีวิตเป็นผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว

          ไข้หวัดใหญ่ แนวโน้มผู้ป่วยลดลง สายพันธุ์ที่พบมากที่สุดคือสายพันธุ์ A/H1N1(2009) ข้อมูลวันที่ 1 มกราคม - 31 สิงหาคม 2567 พบผู้ป่วยสะสม 468,631 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็กและวัยเรียน พบผู้เสียชีวิต 36 ราย เป็นกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป โดยผลการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในประชาชนกลุ่มเสี่ยง ปี 2567 จำนวนกลุ่มเป้าหมาย 4,170,210 คน มีผู้เข้ารับบริการ 3,802,584 คน คิดเป็นร้อยละ 91 ขอเน้นย้ำให้ประชาชน ผู้ปกครอง และผู้สูงอายุ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ยังคงเฝ้าระวัง และตระหนักในการใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ และดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด เมื่อมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก ต้องสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้อื่น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว และไปรับการรักษาจากแพทย์ หยุดพักรักษาตัวจนกว่าจะหายเป็นปกติ 

          ไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 4 กันยายน 2567 พบผู้ป่วย 72,157 ราย พบมากสุดในกลุ่มวัยเรียน มีผู้เสียชีวิต 71 ราย เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว จึงขอเน้นย้ำมาตรการ สำรวจทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ควบคุมยุงพาหะ วินิจฉัยและการรักษาที่รวดเร็ว และสื่อสาร เน้นงดจ่ายยากลุ่ม NSAIDs ให้แก่ผู้ป่วยที่สงสัยเป็นโรคไข้เลือดออก (อาจก่อให้เกิดอันตรายเลือดออกในทางเดินอาหาร) และขอแนะนำให้ประชาชนทายากันยุงเพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด รวมถึงผู้ป่วยไข้เลือดออกให้ทายากันยุงด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไข้เลือดออกสู่บุคคลในครอบครัวและชุมชน

          ฝีดาษวานร สถานการณ์ทั่วโลก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 - 31 กรกฎาคม 2567 ผู้ป่วยสะสม 102,997 ราย เสียชีวิต 223 ราย เป็นกลุ่มอายุ 30-39 ปี (41%) ส่วนใหญ่เป็นเชื้อฝีดาษวานร Clade II ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2565 – 6 กันยายน 2567 พบผู้ป่วยสะสม 835 ราย เป็นกลุ่มอายุ 30-39 ปี (42%) และเสียชีวิต 13 ราย (1.6%) พบติดเชื้อเอชไอวีทั้ง 13 ราย  ส่วนการติดตามการรักษาผู้ป่วยฝีดาษวานร Clade Ib ที่พบเป็นผู้ป่วยนำเข้ารายแรกของประเทศไทย ขณะนี้รักษาหายสามารถกลับบ้านได้แล้ว และจากการติดตามอาการกลุ่มเสี่ยงใกล้ชิดผู้ป่วยรายนี้จำนวน 43 ราย ขณะนี้ครบ 21 วัน ไม่พบผู้ป่วยเพิ่มเติม

          ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีการเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานรทั้ง 2 สายพันธุ์ และจับตาสถานการณ์การระบาดในประเทศแถบแอฟริกาอย่างต่อเนื่อง คำแนะนำในการป้องกันโรคฝีดาษวานร ได้แก่ 1.หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หรือคนพลุกพล่าน 2.หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด การมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก หรือผู้มีผื่นสงสัยโรคฝีดาษวานร 3.หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ทำความสะอาดบริเวณจุดสัมผัสร่วม และไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น เป็นต้น ประชาชนที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่ระบาดให้เฝ้าระวังและสังเกตอาการตนเองใน 21 วัน หากมีผื่น มีตุ่มน้ำ ตุ่มหนองขึ้นบริเวณรอบๆ มือ เท้า หน้าอก ใบหน้า ปาก หรือส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ประกอบกับมีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณหลังหู คอ ขาหนีบให้รีบเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลทันที

          ไข้ฉี่หนู เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน สัตว์รังโรคที่สำคัญ ได้แก่ หนู หมู วัว ควาย แพะ แกะ สุนัข ติดต่อได้โดยการสัมผัสกับปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อ สัมผัสกับน้ำหรือดินที่ปนเปื้อนเชื้อ และการกินอาหารที่ปนเปื้อนปัสสาวะสัตว์ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 3 กันยายน 2567 พบผู้ป่วย 2,452 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 55-64 ปี (20.5%) อาการเริ่มแรกจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน ต่อมาอาจมีตัวเหลือง ตาเหลือง ไอเป็นเลือด และเสียชีวิต ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมเสี่ยง คือ การเดินลุยน้ำย่ำโคลน โดยไม่สวมรองเท้าบูท หรือลงแช่แหล่งน้ำ ที่มีเชื้อปนเปื้อน และพบผู้เสียชีวิต 26 ราย สาเหตุส่วนใหญ่มาจากไปพบแพทย์ช้า และซื้อยามารับประทานเอง

           โรคเมลิออยด์ (ไข้ดิน) พบเชื้อได้ในแหล่งน้ำและดินตามธรรมชาติ สถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 3 กันยายน 2567 พบผู้ป่วย 2,399 ราย เสียชีวิต 68 ราย  ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มักมีโรคประจำตัว ซึ่งจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มสูงขึ้นในปีนี้ พบผู้ป่วยมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เชื้อสามารถเข้าได้ทางผิวหนังโดยการสัมผัสดินและน้ำเป็นเวลานาน การกิน หรือดื่มน้ำไม่สะอาด และการหายใจเอาละอองฝุ่นดินเข้าไป จะมีอาการไข้ ไอเรื้อรัง ฝีที่ผิวหนัง ปวดท้อง ปวดข้อ และกระดูก โดยทั่วไปอาการมักปรากฏขึ้นใน 2-4 สัปดาห์หลังได้รับเชื้อ หากติดเชื้อในกระแสเลือด แล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที มีโอกาสเสียชีวิตใน 1-3 วัน

          วิธีป้องกันทั้งโรคไข้ฉี่หนู และโรคเมลิออยด์ และสามารถป้องกันได้ ดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการแช่น้ำเป็นเวลานานหรือเดินลุยน้ำย่ำโคลนด้วยเท้าเปล่า หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรสวมรองเท้าบู๊ท กรณีมีบาดแผลควรปิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ และเมื่อขึ้นจากน้ำให้รีบทำความสะอาดร่างกายทันทีด้วยน้ำและสบู่  2.รับประทานอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่  3.ทำความสะอาดที่พักให้สะอาด ทิ้งเศษอาหารในถุงพลาสติกและมัดปากถุงให้แน่น เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเชื้อโรค  4.หากมีไข้สูง ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อที่น่อง หลังจากสัมผัสพื้นที่น้ำขัง หรือดินที่มีโอกาสปนเปื้อนปัสสาวะสัตว์  และอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 วัน  ให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติเสี่ยงให้ทราบ เพื่อพิจารณาการรักษาได้อย่างถูกต้อง

           ไข้หูดับ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus suis เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน คนมักติดเชื้อจากการกินเนื้อหมูดิบ สุกๆดิบๆ หรือติดเชื้อผ่านทางบาดแผล พบผู้ป่วยมากในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม และช่วงเดือนเทศกาลที่มีการรวมตัวกันทุกปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุ 65 ปีขึ้นไป และตั้งแต่ต้นปีพบผู้เสียชีวิตรวม 44 ราย ส่วนใหญ่มี โรคประจาตัวคือ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอื่นๆ ที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน วิธีป้องกันคือ ไม่กินเนื้อหมู เลือดดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งขายที่มีมาตรฐานเชื่อถือได้ หลังสัมผัสเนื้อหมูให้ล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดทุกครั้ง หากมีแผลที่มือ ห้ามสัมผัสเนื้อ เครื่องใน เลือดหมูโดยตรง ไม่เก็บเนื้อหมูและส่วนอื่นๆ ในภาชนะเดียวกันเพื่อป้องกันการปนเปื้อน ไม่ใช้เขียง มีด ตะเกียบและอุปกรณ์ทำอาหารกับเนื้อหมูดิบและอาหารปรุงสุกร่วมกัน ไม่นำซากหมูป่วยตายมาปรุงอาหารหรือจำหน่ายโดยเด็ดขาด หากพบว่ามีอาการป่วยสงสัย โรคไข้หูดับ คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อาเจียน ท้องเสีย การได้ยินลดลง ร่วมกับประวัติเสี่ยง ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันทีและแจ้งประวัติการกินหมูดิบและสัมผัสเนื้อหมูดิบให้ทราบ จะช่วยลดอัตราการเกิดหูหนวกและลดการเสียชีวิตได้

          โรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษในสถานศึกษา พบเหตุการณ์ระบาด 43 เหตุการณ์ จำนวนผู้ป่วย 3,244 ราย อาการโรคคือ คลื่นไส้อาเจียน อุจจาระร่วง ปวดท้อง บางรายอาจมีไข้ ปวดศีรษะ และปวดเมื่อยตามตัว สาเหตุของการระบาดมาจากขาดการสุขาภิบาลที่ดี (40%) อาหารค้างมื้อปรุงประกอบไว้นานเกิน 2 ชม. (20%) และเก็บรักษาวัตถุดิบอาหารไม่เหมาะสม (20%) คำแนะนำสำหรับสถานศึกษา ให้ความรู้เรื่องการสุขาภิบาลอาหารควบคุมการให้บริการอาหารนักเรียน ให้เป็นไปตามมาตรฐานการสุขาภิบาลอาหารของกรมอนามัย ตรวจสอบอุปกรณ์จ่ายน้ำให้พร้อมใช้งานไม่ชำรุด รวมถึงดูแลรักษาความสะอาดเครื่องกรองน้ำ เปลี่ยนไส้กรองตามรอบที่กำหนด  

          และขอให้ ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ อาหารปรุงสุกที่เก็บไว้นานเกิน 2 ชม. ต้องอุ่นร้อน   ให้ทั่วถึง ภาชนะที่ใช้สำหรับอาหารที่ปรุงสุกแล้ว ควรแยกจากอาหารหรือวัตถุดิบที่ยังไม่ปรุง เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อก่อโรค ล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดทุกครั้ง ทั้งก่อนกินอาหาร หลังเข้าห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก บริโภคน้ำดื่ม น้ำแข็ง ที่สะอาดได้มาตรฐาน มีเครื่องหมาย อย.

          ภัยสุขภาพจากน้ำท่วม และดินถล่ม ข้อมูลระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม - 8 กันยายน 2567 พบผู้เสียชีวิตรวม 29 ราย จากการจมน้ำ 15 ราย และดินถล่ม 13 ราย ไฟฟ้าช็อต 1 ราย ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อายุ 45-59 ปี (เฉลี่ย45.9 ปี) สำหรับวิธีการป้องกันการจมน้ำ ควรอพยพไปยังพื้นที่สูง ไม่ควรขับรถผ่านบริเวณที่มีน้ำท่วม ระดับน้ำเพียง 6 นิ้ว สามารถทำให้รถเสียหลักล้มได้ สำหรับดินถล่มแนะ 1.อพยพทันทีไปตามเส้นทางที่ปลอดภัยให้พ้นจากการไหลของดิน อย่างน้อย 2-5 กิโลเมตร  2.หลีกเลี่ยงเส้นทางน้ำเชี่ยว  3.ควรอยู่ห่างลำน้ำ ป้องกันดิน หิน ต้นไม้ ที่อาจไหลตามน้ำมา  4.เมื่อพลัดตกน้ำ ให้หาจุดยึดเกาะและปีนให้พ้นน้ำ ทั้งนี้ในช่วงฤดูฝนนี้ ควรติดตามข้อมูลข่าวสารสภาพอากาศตลอดเวลา

          สำหรับประเด็นสุขภาพอื่นๆ ที่มีการรณรงค์ในช่วงเดือนกันยายนนี้  ได้แก่ 1) วันโรคพิษสุนัขบ้าโลก จัดขึ้นในวันที่ 28 กันยายน ของทุกปี ซึ่งเป็นวันเสียชีวิตของ “หลุยส์ ปาสเตอร์” ผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้สำเร็จเป็นครั้งแรก และเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายจากโรคพิษสุนัขบ้าและร่วมมือร่วมใจในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไป ดังนี้   1.เลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ ป้องกันสัตว์เป็นโรค พาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรค ทำหมันถาวร หากพบสัตว์ตายผิดปกติให้ส่งไปตรวจหาเชื้อ 2.ป้องกันการถูกกัด โดยยึดคาถา 5 ย. คือ “อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ และอย่ายุ่ง” 3.การป้องกันหลังถูกกัด "ล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ และฉีดวัคซีนให้ครบ” โดยรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ ใส่ยาฆ่าเชื้อที่บาดแผล ไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และกักสุนัขเพื่อดูอาการ 10 วัน หากสุนัขตาย  ให้ส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า

          2) วันหัวใจโลก จัดขึ้นในวันที่ 29 กันยายน ของทุกปี โดยแนวคิดปีนี้ คือ “ใช้ใจ เปลี่ยนพฤติกรรม ป้องกันโรคหัวใจ : USE HEART FOR ACTION” ส่งเสริมให้ประชาชนใส่ใจสุขภาพโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรคหัวใจ และหลอดเลือด โดยสถานการณ์ทั่วโลกพบว่า มากกว่า 20.5 ล้านคน เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด และร้อยละ 85 ของการเสียชีวิตเกิดจากอาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ประชากรไทยมีอัตราป่วยด้วยโรคหัวใจขาดเลือด คิดเป็น 41.73 ต่อประชากรแสนคน อาการของโรคหัวใจและหลอดเลือดแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย เช่น เจ็บหน้าอก จุกแน่นกลางอก เจ็บร้าวหัวไหล่ซ้าย แขน หรือกราม ใจสั่น เหงื่อแตก เป็นต้น ซึ่งมีสาเหตุ มาจากการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขภาพ การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ไม่ออกกำลังกาย ภาวะอ้วนและน้ำหนักเกิน วิธีป้องกันคือ 1.รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่  2.ไม่เครียด  3.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ  4.หลีกเลี่ยงฝุ่นควันมลพิษ  5.ไม่สูบบุหรี่ 6.ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และ 7.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-9 ชั่วโมง

 

กรมควบคุมโรคห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

*********************

ข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค

วันที่ 11 กันยายน 2567


ข่าวสารอื่นๆ