สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค ร่วมรณรงค์วันหัวใจโลก 2567 เน้นย้ำให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรคหัวใจ

          กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมรณรงค์เนื่องในวันหัวใจโลก วันที่ 29 กันยายน 2567 ตามคำขวัญสมาพันธ์หัวใจโลก (World Heart Federation, WHF) คือ USE HEART FOR ACTION : ใช้ใจ เปลี่ยนพฤติกรรม ป้องกันโรคหัวใจ เพราะโรคหัวใจเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

          วันนี้ (26 กันยายน 2567) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ทุกวันที่ 29 กันยายน ของทุกปี เป็นวันหัวใจโลก (World Heart Day) ในปี 2567 นี้ มุ่งเน้นให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรคหัวใจ ข้อมูลจากสมาพันธ์หัวใจโลก (World Heart Federation, WHF) ระบุว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลก ทั่วโลกพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่า 20.5 ล้านคนต่อปี และร้อยละ 85 ของการเสียชีวิตเกิดจากอาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง สำหรับประเทศไทยข้อมูลจากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (Health Data Center) ปี 2566 พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยสะสมด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่า 2.5 แสนราย และเสียชีวิต ด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึง 4 หมื่นราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 5 คน อาการของโรคหัวใจและหลอดเลือดแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย เช่น เจ็บหน้าอก จุกแน่นกลางอก เจ็บร้าวหัวไหล่ซ้าย แขน หรือกราม ใจสั่น เหงื่อแตก เป็นลม หมดสติ เป็นต้น หากประชาชนมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด และสำหรับผู้ป่วยที่อยู่บ้านคนเดียวหรือญาติไม่สามารถพาไปโรงพยาบาลได้ สามารถโทรขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วน 1669 เพราะถ้าหัวใจขาดเลือดจนหัวใจหยุดทำงาน ผู้ป่วยจะหัวใจหยุดเต้นและหมดสติ หากผู้ป่วยหมดสติแล้ว ควรรีบทำการกดหน้าอกผู้ป่วย ติดเครื่องกระตุ้นหัวใจ AED และโทรเรียกรถพยาบาลที่สายด่วน 1669 ทันที

          นายแพทย์อดิสรณ์ วรรธนะศักดิ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การเสียชีวิตส่วนใหญ่จากโรคหัวใจและหลอดเลือดเกิดจากปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ระดับความดันโลหิตสูง ระดับไขมันในเลือดสูง ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ภาวะอ้วนและน้ำหนักเกิน ซึ่งส่วนใหญ่สามารถป้องกันหรือควบคุมได้โดยโรคนี้มักเป็นโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง ความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีความเครียดหรือไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหรือระดับความดันโลหิตได้ตามเป้าหมายการรักษาของแพทย์ โรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้มากถึง 80% โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยหลัก 4อ. 2ส. 1น. ดังนี้ อาหาร เลือกทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ลดอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม อารมณ์ ควบคุมอารมณ์ ความเครียด ทำจิตใจให้แจ่มใส ออกกำลังกาย ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน หรือสะสม 150 นาทีต่อสัปดาห์ อากาศ หลีกเลี่ยงมลพิษทางอากาศและอากาศที่มีฝุ่นควัน ไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์  นอนหลับ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน

           นายแพทย์กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรค กองโรคไม่ติดต่อ รณรงค์สร้างความตระหนักรู้เรื่องโรคหัวใจเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการป้องกันโรคหัวใจโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผ่านช่องทางต่างๆ ของกองโรคไม่ติดต่อทั้งโซเชียลมีเดียและโซเชียลเน็ตเวิร์ก นอกจากนี้ การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่ช่วยป้องกันหรือรักษาติดตามการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ดีในระยะยาว ดังนั้นประชาชนกลุ่มวัยทำงานอายุระหว่าง 25-59 ปี สามารถตรวจคัดกรองปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ตรวจวัดความดันโลหิต และตรวจเลือดคัดกรองโรคเบาหวาน ได้จากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือประกันสังคมตามสิทธิการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหากได้รับการวินิจฉัยเป็นความดันโลหิตสูงหรือเบาหวานแล้ว ควรนัดหมายเข้ารับบริการ ตรวจติดตามและรับยาอย่างต่อเนื่อง ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือด และความดันโลหิตให้อยู่ในค่าปกติ หรือตามเป้าหมายการรักษาของแพทย์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

**************************

ข้อมูลจาก : กองโรคไม่ติดต่อ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

                     วันที่ 26 กันยายน 2567

 

 


ข่าวสารอื่นๆ