สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค ห่วงใยสุขภาพประชาชน แนะวิธีรับมือโรคและภัยสุขภาพช่วงหน้าหนาว

       วันนี้ (6 พฤศจิกายน 2567) แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค และนายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค ดำเนินการแถลงข่าวในหัวข้อ “หน้าหนาว  อุ่นใจ ปลอดภัย ห่างไกลโรค” พร้อมแนะแนวทางการรับมือโรคและภัยสุขภาพในช่วงฤดูหนาวปีนี้

       โควิด 19 พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม - 2 พฤศจิกายน 2567 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 41,142 ราย เสียชีวิต 214 ราย โดยระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2567 พบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 549 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้เสียชีวิตเป็นผู้สูงอายุ

       ไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 26 ตุลาคม 2567 มีผู้ป่วย 595,855 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็ก   และวัยเรียน พบผู้เสียชีวิต 47 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว และไม่ได้รับวัคซีน

       โรคติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 ตุลาคม 2567 มีรายงานผู้ป่วยปอดอักเสบ  จาก เชื้อไวรัสอาร์เอสวี 6,934 ราย

       ทั้งนี้ ในสภาพอากาศที่เริ่มเปลี่ยนแปลงและกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว กรมควบคุมโรคยังคงเน้นย้ำให้ประชาชนตระหนักถึงการป้องกันการแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ทั้ง 3 โรคดังกล่าว ควรดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ดังนี้ 1) ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์  2) เลี่ยงการนำมือมาสัมผัสจมูก ปาก ตา  3) หากไปในสถานที่ปิดหรือแออัด ควรสวมหน้ากากอนามัย  4) ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น  5) หมั่นเช็ดถูทำความสะอาดของเล่นเด็กเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังพบเด็กป่วย และ 6) เลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ

       ไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 ตุลาคม 2567 พบผู้ป่วย 92,203 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กวัยเรียน เสียชีวิต 96 ราย มาตรการสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายยังเป็นสิ่งที่ต้องเน้นย้ำ พร้อมกับเน้นงดจ่ายยากลุ่ม NSAIDs แก่ผู้ป่วยที่สงสัยเป็นโรคไข้เลือดออก ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายเลือดออกในทางเดินอาหาร ขอแนะนำให้ประชาชนและผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เลือดออกทายากันยุง เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด และป้องกันการแพร่เชื้อไข้เลือดออกสู่บุคคลในครอบครัวและชุมชน

       สำหรับโรคและภัยสุขภาพอื่นๆ ที่ต้องติดตามในช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวนี้ ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 การเสียชีวิตจากภาวะอากาศหนาว การขาดอากาศหายใจและการสูดดมแก๊สพิษ จากเครื่องทำน้ำอุ่นแบบใช้ระบบแก๊ส และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน

       ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ระหว่างวันที่ 1-31 ตุลาคม 2567 พบว่ามีค่าฝุ่น PM2.5 ระหว่าง 3-61 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และมี 20 จังหวัดที่มีค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน (มากกว่า 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) นอกจากนี้ยังพบว่าจังหวัดที่มีค่าฝุ่นสูงที่สุด คือ จังหวัดกาญจนบุรี (วันที่ 8 ต.ค.67) กลุ่มเสี่ยงที่เป็นกลุ่มเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ควรติดตามสถานการณ์ฝุ่นอย่างใกล้ชิด เมื่อมีคำเตือนค่าฝุ่น PM2.5 สูง ควรปฏิบัติตนตามมาตรการ “หลีก ปิด ใช้ เลี่ยง ลด” หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่น ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด ใช้หน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5 เลี่ยงกิจกรรมภายนอกอาคาร ลดการใช้รถยนต์และการเผาทุกชนิด

       การเสียชีวิตจากภาวะอากาศหนาว จากรายงานการเฝ้าระวังสถานการณ์การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว ระหว่างปี 2558-2567 พบว่ามีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 242 ราย สูงสุดในช่วงเดือนธันวาคม - มกราคม จึงขอเน้นย้ำประชาชนเตรียมความพร้อมดูแล ส่งเสริมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง สวมใส่เครื่องนุ่งห่มที่เพียงพอ รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่อาจเป็นปัจจัยเสริมให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตในช่วงภาวะอากาศหนาวมากขึ้น

       การขาดอากาศหายใจและการสูดดมแก๊สพิษ จากเครื่องทำน้ำอุ่นแบบใช้ระบบแก๊ส จากข้อมูลระหว่างปี 2551 - ตุลาคม 2567 พบว่ามีรายงานทั้งสิ้น 34 เหตุการณ์ เป็นผู้ป่วย 41 ราย เสียชีวิต 10 ราย เน้นย้ำคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบทางเดินหายใจ ควรให้ความระมัดระวังมากขึ้น เพราะหากได้รับแก๊สดังกล่าวจะทำให้เสียชีวิตได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่นๆ และควรสังเกตอาการที่อาจเกิดขึ้นจากการได้รับแก๊สระหว่างใช้ห้องน้ำ เช่น วิงเวียน หน้ามืด หายใจลำบาก ควรรีบออกจากห้องน้ำหรือให้การช่วยเหลือทันที

       โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน จากข้อมูลกองระบาดวิทยา พบว่า กลุ่มเด็กที่มีอายุ 5-9 ปี ร้อยละ 57.89 ตรวจพบเชื้อไวรัสก่อโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันมากที่สุด แนะนำให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” ปฏิบัติตนดังนี้ 1) กินอาหารปรุงสุก ใหม่  2) หากเก็บอาหารไว้เกิน 2 ชั่วโมง อุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนกินทุกครั้ง  3) ล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดก่อนหยิบจับอาหารทุกครั้ง  4) ดื่มน้ำต้มสุกหรือน้ำบรรจุขวดที่มีเครื่องหมาย อย.  5) บริโภคน้ำแข็งที่สะอาด ไม่มีสีหรือกลิ่นผิดปกติ

       นอกจากนี้ ในช่วงเทศกาลงานบุญ งานกฐิน ที่ประชาชนต้องมีการจัดเตรียมอาหารทำบุญ และมีการเดินทางเป็นหมู่คณะ โรคและภัยสุขภาพที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ อาหารเป็นพิษ ซึ่งต้องยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” และต้องล้างมือ ด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงประกอบอาหารสำหรับการเดินทาง แนะนำให้คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งตลอดการเดินทาง ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และหลีกเลี่ยงการเดินทางในเวลากลางคืน เนื่องจากทัศนวิสัยอาจไม่ดี เป็นเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

       สำหรับเทศกาลลอยกระทงที่จะมาถึง มีให้ระวังเรื่องการจุดพลุ ประทัด  ทั้งนี้ สถานการณ์พลุ ประทัดระเบิด ตั้งแต่ปี 2562 - 2566พบผู้บาดเจ็บ 4,225 ราย และเสียชีวิต 10 ราย จึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนระมัดระวัง ควรออกห่างจากบริเวณที่มีการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ หรือพลุ หากเกิดอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บให้โทร 1669 และรีบส่งโรงพยาบาล ให้เร็วที่สุด และในช่วงเทศกาลลอยกระทง เนื่องจากวัยรุ่นอาจมีการแสดงแสดงออกการเป็นคู่รัก แนะนำให้ป้องกันตนเอง ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง สังเกตและหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีผื่น แผล ตุ่ม หนองสงสัย หากมีความเสี่ยงแนะนำให้ปรึกษาและรับการตรวจที่คลินิกทันที

       สถานการณ์โรคระบาดในต่างประเทศที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ โรคไข้หวัดนก ยังพบมีรายงานเป็นระยะ โดยเฉพาะสายพันธุ์ H5N1 ซึ่งติดต่อจากสัตว์สู่คน แต่ยังจำกัดความสามารถติดต่อจากคนสู่คน ข้อมูลล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก (WHO) มีรายงานพบเชื้อไข้หวัดนก H5N1 ในฟาร์มสัตว์ปีก ในเมืองดงแฮ จังหวัดคังวอนโด สาธารณรัฐเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567 และเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 มีรายงานคนงานฟาร์มสัตว์ปีกในรัฐวอชิงตัน ติดเชื้อ 9 ราย ผู้ติดเชื้อ 3 รายยืนยันว่าทั้งหมดเป็นไวรัสไข้หวัดนกชนิด A (H5N1) สำหรับประเทศไทย พบผู้ป่วยรายสุดท้าย เมื่อปี 2549 ทั้งนี้ ยังคงเน้นย้ำประชาชน ให้รับประทานอาหารที่ปรุงสุก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ปีก ไข่ และผลิตภัณฑ์จากโคนม หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก สุกร หรือโคนมที่ป่วยหรือตาย หากต้องสัมผัสกับสัตว์ปีก สุกร หรือโคนม ควรสวมหน้ากากอนามัย สวมถุงมือ และล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัส หากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ หรือตาแดงอักเสบ ควรรีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยงดังกล่าวให้แพทย์ทราบ

       เนื่องใน วันเบาหวานโลก ปีนี้ ตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 มีการรณรงค์ภายใต้แนวคิด Diabetes and Well-Being สุขกาย สุขใจ โลกสดใส ใส่ใจเบาหวาน” เพื่อสร้างความตระหนักว่าผู้เป็นเบาหวานสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย จากสถิติสาธารณสุข ปี 2565 พบว่าโรคเบาหวานเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 6 ของคนไทย และ 1 ใน 11 ของคนไทย มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคเบาหวาน หากประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก งดสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะป้องกันการเกิดโรคเบาหวานในอนาคตได้

       การรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล กำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ซึ่งได้ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงทั้งในเด็ก ผู้หญิง และความรุนแรงในครอบครัวด้วย หากคนในสังคมมุ่งมั่นร่วมกันยุติความรุนแรงอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ก็จะทำให้ปัญหาเหล่านี้ลดน้อยลง

       วันเอดส์โลก ในปีนี้ ตรงกับวันที่ 1 ธันวาคม 2567 โดยในปีนี้มีการรณรงค์ภายใต้แนวคิด “Take the rights path : เคารพสิทธิ มุ่งสู่การยุติเอดส์” จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2565 พบว่า ร้อยละ 27.9 ประชาชนมีทัศนคติเลือกปฏิบัติผู้ติดเชื้อเอชไอวี กรมควบคุมโรคขอสนับสนุนให้ทุกคนเคารพ ปกป้อง  และคุ้มครองสิทธิ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะส่งผลต่อการเข้ารับบริการสุขภาพด้านการป้องกันและรักษาเอชไอวี เพื่อการมีสุขภาพและชีวิตที่ดี และเน้นย้ำการปฏิบัติตนดังนี้ 1) ใช้ถุงยางอนามัย เมื่อมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง ทุกคน ทุกช่องทาง 2) หากมีความเสี่ยงแนะนำให้ตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอ 3) เข้าสู่ระบบการรักษาทันที กินยาเร็วและต่อเนื่อง รู้เร็ว รักษาเร็ว กินยาเร็ว กดไวรัสได้ สุขภาพดี ไม่ถ่ายทอดเชื้อสู่คู่ ใช้ชีวิตในสังคมได้ปกติ

กรมควบคุมโรคห่วงใย  อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

 

 

*********************

ข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2567


ข่าวสารอื่นๆ