สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค ร่วมลงนาม MOU กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลการโฆษณาสินค้าและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภค

          กรมควบคุมโรคร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง ความร่วมมือในการกำกับดูแลการโฆษณาสินค้าและบริการ การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือการดำเนินการในลักษณะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อบูรณาการบังคับใช้กฎหมายด้านการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพ
          วันนี้ (3 ธันวาคม 2567) ที่ห้อง Mayfair C Grand Ballroom โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ นายแพทย์นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง ความร่วมมือในการกำกับดูแลการโฆษณาสินค้าและบริการ การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือการดำเนินการในลักษณะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการค้าภายใน กรมควบคุมโรค กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมอนามัย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
          มีวัตถุประสงค์ให้กลไกการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในการรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการโฆษณาสินค้า บริการ หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีลักษณะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ให้การดำเนินการเกี่ยวกับการโฆษณาสินค้า บริการ ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายหรือการดำเนินการของผู้ที่กระทำการในลักษณะที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบูรณาการงานคุ้มครองผู้บริโภคจากทุกหน่วยงาน โดยใช้กฎหมายด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนงาน 
          ทั้งนี้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้ 1) ประสานความร่วมมือการดำเนินการตามกฎหมายเพื่อให้เกิดความคล่องตัว และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินงาน 2) แลกเปลี่ยน แบ่งปันฐานข้อมูลด้านการคุ้มครองผู้บริโภคระหว่างหน่วยงาน 3) สนับสนุนการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน เพื่อหยุดยั้งการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย 4) จัดให้มีระบบการรับเรื่องร้องเรียนและเฝ้าระวังการโฆษณา ตรวจสอบและจัดส่งข้อมูล เพื่อดำเนินการตามกฎหมายที่อยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน 5) ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจ ส่งเสริมและสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านต่างๆ เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ให้แก่ประชาชน ผู้ประกอบการและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องผ่านช่องทางที่หลากหลาย และคำนึงถึงการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวของประชาชน พร้อมสื่อสาร เตือนภัย เผยแพร่ สร้างความรับรู้ให้ประชาชนไม่ให้ถูกหลอกลวงหรือเกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับบริการหรือสินค้านั้นจากการโฆษณา เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

**************************************
ข้อมูลจาก: กองยุทธศาสตร์และแผนงาน/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 3 ธันวาคม 2567

 

 

  

  


ข่าวสารอื่นๆ