กรมควบคุมโรคให้ความสำคัญกับการป้องกันการเจ็บป่วยจากการสัมผัสสารเคมีของพนักงานและประชาชนที่ทำงานหรืออยู่อาศัยในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จึงยกระดับการเฝ้าระวังสุขภาพด้วยการสนับสนุนเครื่องมือตรวจหาสารเคมี โลหะหนัก และเส้นใย ที่พบมากในพื้นที่ EEC พร้อมเปิดอาคารห้องปฏิบัติการทางพิษวิทยาที่ทันสมัย
วันนี้ (7 มกราคม 2568) นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดโครงการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และเปิดอาคารห้องปฏิบัติการควบคุมโรค ณ ศูนย์พัฒนาวิชาการอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม อำเภอมาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยมีวัตถุประสงค์ให้ภาคีเครือข่าย หน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน สถานประกอบการ ภาคประชาสังคม และประชาชนในพื้นที่ทราบถึงความพร้อมของกรมควบคุมโรค ในการดูแลสุขภาพประชาชน ด้านการเฝ้าระวัง สอบสวน และควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง การตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีสารเคมีรั่วไหล และยังเป็นการสนับสนุนการบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562
นายแพทย์ดิเรก กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มีการดำเนินการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 โดยครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง ต่อยอดจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกที่มีการดำเนินการในช่วงปี พ.ศ. 2520 - 2550 และในปัจจุบันได้มีการดำเนินการพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่องภายใต้สำนักงานคณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) นั้น กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการธำรงภาวะสุขภาพที่ดีของประชาชนในพื้นที่ EEC เพื่อให้สามารถทำงานและใช้ชีวิตในพื้นที่ได้อย่างมีความสุข ส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของพื้นที่และประเทศไทยในภาพรวมอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้นโยบายดังกล่าว จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของระบบป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ด้านการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ พ.ศ. 2560 - 2579 ซึ่งโครงการรณรงค์ฯ และการเปิดอาคารห้องปฏิบัติการควบคุมโรคในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการพัฒนาศักยภาพระบบเครือข่ายทางห้องปฏิบัติการทางสาธารณสุข (Public Health Laboratory) ภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ ทำให้ห้องปฏิบัติการในสังกัดกรมควบคุมโรค สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานรัฐอื่น ๆ รวมทั้งภาคเอกชน ได้ร่วมกันเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนในพื้นที่ EEC
แพทย์หญิงฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า การตรวจทางห้องปฏิบัติการพิษวิทยา เป็นส่วนสำคัญในการเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนที่อาจเจ็บป่วยจากมลพิษสิ่งแวดล้อมในพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม เนื่องจากจะทำให้สามารถตรวจพบการสัมผัสมลพิษที่ยังไม่ได้ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วย นำไปสู่การลดการสัมผัสได้ทันท่วงที ทั้งนี้ ห้องปฏิบัติการควบคุมโรคนี้ มุ่งหวังที่จะพัฒนาให้สามารถตรวจหาสารเคมี โลหะหนัก หรือเส้นใย จากตัวอย่างในร่างกายและสิ่งแวดล้อม ได้มากถึง 37 ชนิด ซึ่งจะสามารถรองรับภัยสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ EEC ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งห้องปฏิบัติการฯ นี้ และศูนย์พัฒนาวิชาการอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จังหวัดระยอง ยังมีส่วนสำคัญในการบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 ด้านการสอบสวน และวินิจฉัยโรคจากการทำงานหรือโรคจากมลพิษสิ่งแวดล้อม ที่ประกาศภายใต้ พรบ. ดังกล่าว ได้แก่ โรคจากพิษตะกั่ว โรคพิษสารกำจัดศัตรูพืช โรคจากแร่ใยหิน นอกจากนั้น ห้องปฏิบัติการฯ นี้ จะสำคัญต่อการพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม และการวิจัยในการเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนต่อไปอีกด้วย
****************************
ข้อมูลจาก : กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 7 มกราคม 2568