สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค เตือน การแข่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผิดกฎหมาย ผู้จัดเสี่ยงโดนลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551   

              กรมควบคุมโรค เตือน กรณีที่มีการจัดแข่งขันดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีผู้เข้าร่วมแข่งขันเพื่อชิงรางวัลจากการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากภายในเวลาที่กำหนด กิจกรรมนี้ได้รับความนิยมในบางกลุ่ม แต่ได้สร้างความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทั้งทางด้านสุขภาพและความปลอดภัย เนื่องจากกิจกรรมดังกล่าวอาจละเมิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และเป็นอันตรายกับผู้เข้าร่วม
         วันนี้ (23 มกราคม 2568) นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงประเด็นการจัดแข่งขันดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นกิจกรรมที่มักจะมีการดื่มในปริมาณมากอย่างรวดเร็ว อาจทำให้เกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ (alcohol intoxication) โดยเฉพาะส่งผลกระทบต่อสมองและตับ ระบบการทำงาน ของร่างกายรวนจนเกิดภาวะช็อกที่เป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้ เนื่องจากแอลกอฮอล์เป็นสารที่ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางคล้ายยากดประสาทและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ยังอาจทำให้เกิดความรุนแรงในสังคม เช่น การทะเลาะวิวาท การขับรถขณะมึนเมา ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางท้องถนนอีกด้วย
             ด้านนายแพทย์นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า กรณีที่มีการเชิญชวนเข้าร่วมกิจกรรมแข่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีโปรโมชันจัดหนักจัดเต็มด้วยการโพสต์ทางโซเชียลมีเดียของร้านค้าหรือสถานประกอบการ หรือการจัดคอนเสิร์ต กิจกรรมอื่นใดนั้น ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 30 (4) ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการให้หรือเสนอให้สิทธิในการเข้าชมการแข่งขัน การแสดง การให้บริการ การชิงโชค การชิงรางวัล รวมถึงการจัดกิจกรรมที่มีการนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาให้บริการฟรี ก็เป็นความผิดตามมาตรา 30 (5) ถือเป็นการแจกจ่ายเพื่อจูงใจสาธารณชนให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ หากมีการประชาสัมพันธ์ ในช่องทางออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ อาจมีความผิดฐานโฆษณาตามมาตรา 32 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีโทษปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 50,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง และหากพิสูจน์ได้ว่าการเชิญชวนให้ดื่มนั้น ทำให้ลูกค้าได้รับอันตรายต่างๆ สามารถเอาผิดร้านค้าหรือสถานประกอบการ ในฐานะผู้ขายที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วยเช่นกัน   
          นายแพทย์ภาณุมาศ กล่าวในตอนท้ายว่า การจัดการแข่งขันดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้แอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกายและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว ซึ่งก่อให้เกิดการกดระบบประสาทส่วนกลางได้ รวมถึงอาจสำลัก อาเจียน หายใจไม่ออก หยุดหายใจ หมดสติ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะการดูดซึมของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะในผู้หญิงจะเมาเร็วกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมีปริมาณไขมันที่มากกว่า แต่มีพื้นที่น้ำน้อยกว่า และเหล้าแต่ละชนิดก็ไม่เหมือนกัน แต่สามารถป้องกันได้โดยการไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตามไม่ควรดื่มเกินลิมิตของตนเอง เพราะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้โทษมากกว่าคุณประโยชน์ ทั้งนี้ หากพบเห็นการกระทำผิดกฎหมายสามารถร้องเรียนได้ที่เว็บไซต์ TAS โดยสามารถเข้าใช้งานผ่านเว็บไซต์ http://tas.go.th หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422


**********************************
ข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 23 มกราคม 2568


ข่าวสารอื่นๆ