กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะนำให้เฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง และเน้นย้ำให้ผู้ป่วยไปรับการรักษาเร็ว เพื่อให้สถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนวินิจฉัยให้ได้อย่างรวดเร็ว และงดการทานยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เพื่อลดโอกาสเสียชีวิต
วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2568) นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศ โดยข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 18 กุมภาพันธ์ 2568 พบรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจำนวน 5,410 ราย กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยสูงสุดยังคงเป็นกลุ่มเด็กวัยเรียน คือ กลุ่มอายุ 5 – 14 ปี รองลงมาคือ 15 – 24 ปี และพบผู้ป่วยสูงทางภาคใต้ โดยจังหวัดที่มีอัตราป่วยสุดในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ได้แก่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี สงขลา พัทลุง และนราธิวาส ตามลำดับ ในส่วนของผู้เสียชีวิตพบว่า มีผู้เสียชีวิต 10 ราย อัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.18 ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ปัจจัยเสียชีวิตหลักยังคงเป็นภาวะอ้วน ได้รับการวินิจฉัยล่าช้า และการได้รับยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ซึ่งทำให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่ายขึ้น
จากอัตราป่วยตายของผู้ป่วยไข้เลือดออก มีความจำเป็นที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี พร้อมทั้งเน้นการสำรวจและทำลายแหล่งพาหะลูกน้ำยุงลาย การควบคุมโรคที่ทันต่อสถานการณ์ และสื่อสารความเสี่ยงให้ร้านขายยา คลินิกเอกชนงดจ่ายยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ในผู้ป่วยที่มีไข้มากกว่า 2 วัน โดยให้ใช้ยาแก้ปวดลดไข้พาราเซตามอลเท่านั้น
นายแพทย์ภาณุมาศ กล่าวต่ออีกว่า การลดความรุนแรงของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่ดีที่สุด คือการตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็ว จึงขอเน้นย้ำให้ผู้ป่วยไปรับการรักษาเร็ว เพื่อให้สถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลตรวจคัดกรองผู้ที่มีอาการไข้สูงลอย ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา หรือมีจุดเลือดออกตามตัว ให้สงสัยโรคไข้เลือดออก และคัดกรองด้วยชุดตรวจโรคไข้เลือดออกชนิดรวดเร็ว Dengue NS1 เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้องได้โดยเร็ว ลดโอกาสการเสียชีวิต
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด โดยการทายากันยุง หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มียุงชุกชุม สำรวจและกำจัดแหล่งน้ำขังภายในบ้านและบริเวณรอบบ้านของตนทุกสัปดาห์ รวมถึงเฝ้าระวังคนในครอบครัว หากมีอาการไข้สูงลอย ให้สงสัยว่าอาจป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ห้ามรับประทานยาลดไข้ชนิดอื่นนอกจากยาพาราเซตามอลเท่านั้น และรีบไปพบแพทย์ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
*****************************************
ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อนำโดยแมลง/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568