กรมควบคุมโรค ขอเผยแพร่ “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์”
ฉบับที่ 276 ประจำสัปดาห์ที่ 35 (วันที่ 30 ส.ค. – 5 ก.ย. 63)
โดย
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย
อธิบดีกรมควบคุมโรค
“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์อาหารเป็นพิษจากพืช ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน (ปี 2559-2563) พบเหตุการณ์อาหารเป็นพิษจากการรับประทานกลอย รวม 11 เหตุการณ์ พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 172 ราย (ผู้ป่วยในเหตุการณ์อยู่ระหว่าง 3-32 ราย) เสียชีวิต 2 ราย ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 36 ราย เหตุการณ์ส่วนใหญ่เกิดในเดือนสิงหาคม รองลงมาคือธันวาคม กันยายน และ มีนาคม ส่วนภูมิภาคที่พบเหตุการณ์สูงสุด คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (9 เหตุการณ์) รองลงมาคือภาคใต้ (1) และภาคตะวันออก (1) ในเดือนนี้ (สิงหาคม 63) มีรายงานพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานกลอยเป็นกลุ่มก้อน 2 เหตุการณ์จาก จ.นครพนม และนครราชสีมา (รวม 27 ราย) โดยทั้งสองเหตุการณ์ไม่มีผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผลการสอบสวนโรคพบว่าผู้ปรุงกลอยคาดว่ามีการล้างขจัดสารพิษจากแหล่งที่ขายมาแล้ว จึงไม่ได้ทำการขจัดสารพิษอีกครั้งก่อนที่จะนำมาปรุงอาหาร”
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่ามีโอกาสจะพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานกลอยเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงฤดูฝนเป็นช่วงที่กลอยกำลังออกดอกและมีหัว ซึ่งทำให้กลอยมีพิษสูงกว่าฤดูอื่นๆ “กลอย” มีลักษณะทั่วไปเป็นไม้เถา มีหัวใหม่เกิดขึ้นทุกปีจากส่วนลำต้นใต้ดิน ในหัวกลอยมีแป้งและมีสารพิษที่ชื่อว่าไดออสคอรีน (Dioscorine) มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ผู้ที่ได้รับพิษจากกลอยจะมีอาการ คันที่ปาก ลิ้น คอ คลื่นไส้ อาเจียน และทำให้เกิดอาการ มึนเมา วิงเวียน ใจสั่น ตาพร่า อึดอัด โดยข้อมูลจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สังกัด สวทช. พบว่าการขจัดพิษจากหัวกลอยในสมัยก่อนทำได้โดยการฝานหัวกลอยเป็นชิ้นบางๆแล้วนำมาแช่น้ำไหล เช่น ในลำธาร ซึ่งต้องใช้เวลาชะล้างสารพิษนานไม่ต่ำกว่า 7 วัน หรืออีกวิธีหนึ่งคือการนำไปแช่ในน้ำเกลือเข้มข้น โดยเกลือจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสารไดออสคอรีนในแผ่นกลอยได้เร็วขึ้น แต่ต้องถ่ายน้ำทิ้งหลายๆ ครั้ง และใช้เวลาแช่ไม่ต่ำกว่า 3 วัน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีวิธียืนยันว่าการกำจัดพิษข้างต้นจะสามารถกำจัดพิษได้ 100% กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำประชาชนให้ระมัดระวังการรับประทานกลอย โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน หากนำมารับประทาน ควรเลือกซื้อกลอยจากแหล่งที่น่าเชื่อถือและมีการขจัดพิษแล้ว หากไม่แน่ใจควรปรุงกลอยโดยผ่านกรรมวิธีการขจัดพิษที่เหมาะสมก่อนทุกครั้ง และหลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กรับประทานกลอย เนื่องจากในเด็กหากได้รับสารพิษแม้ในปริมาณเล็กน้อยอาจจะมีอาการรุนแรงกว่าผู้ใหญ่ ทั้งนี้ หากประชาชนที่รับประทานกลอยแล้วเกิดอาการผิดปกติข้างต้นควรรีบพบแพทย์ในทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี โทร.1367 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”
*******************************************************
ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 29 สิงหาคม 2563