กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปรับลมหนาวในช่วงวันหยุดยาวนี้ ตามภูเขาและยอดดอย โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอให้ระมัดระวังการเข้าพักอาศัยในโรงแรม รีสอร์ต หรือบ้านพักต่างๆ ที่มีการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส พร้อมแนะหากได้กลิ่นแก๊สขณะอาบน้ำ ให้รีบปิดเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สและออกจากห้องน้ำทันที
วันนี้ (18 พฤศจิกายน 2563) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้เข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ในหลายจังหวัดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สภาพอากาศเริ่มหนาวเย็น ประกอบกับในสัปดาห์นี้มีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน นักท่องเที่ยวจึงนิยมเดินทางไปเที่ยวตามภูเขา ยอดดอย และเข้าพักตามโรงแรม รีสอร์ต หรือบ้านพักต่างๆ และที่พักอาจใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สแทนระบบไฟฟ้า นักท่องเที่ยวจึงควรเพิ่มความระมัดระวัง เพราะอาจได้รับอันตรายจากการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สระหว่างการอาบน้ำได้
จากข้อมูลเฝ้าระวังเหตุการณ์ของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในปี 2562 ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ป่วยและเสียชีวิตขณะอาบน้ำด้วยเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส รวมทั้งหมด 4 เหตุการณ์ เป็นผู้ป่วย 5 ราย เสียชีวิต 1 ราย เกิดเหตุในช่วงเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และธันวาคม ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ 3 ราย และเพชรบูรณ์ 3 ราย เหตุเกิดตามสถานที่พักต่าง ๆ ได้แก่ รีสอร์ต 4 ราย ที่พักราชการอุทยานแห่งชาติ 1 ราย และบ้าน 1 ราย โดยพบว่าเหตุการณ์เกิดจากการอาบน้ำ หรือทำกิจกรรมในห้องน้ำเป็นเวลานาน การอาบน้ำต่อกันหลายคนโดยไม่ได้เปิดประตูให้มีการระบายอากาศก่อนที่คนต่อไปจะเข้าไปอาบ
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่ทำให้ผู้อาบน้ำป่วยและเสียชีวิต เกิดจากการใช้งานเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส จะมีการเผาไหม้เพื่อนำความร้อนไปทำให้น้ำอุ่น แต่การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์หากสูดดมก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์เข้าไป ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์จะไปเกาะจับเม็ดเลือดแดงแทนออกซิเจน ทำให้ร่างกายนำออกซิเจนไปใช้ไม่ได้ นอกจากนี้ ก๊าซโพรเพนสามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะไปแทนที่ออกซิเจนในอากาศ ทำให้ผู้ที่สูดอากาศเข้าไป เกิดภาวะขาดอากาศหายใจตามมา ผู้ป่วยจะมีอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ มึนงง หน้ามืด หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ซึม หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น ควรเพิ่มความระมัดระวังและผู้ใกล้ชิดดูแลเป็นพิเศษ
คำแนะนำในการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส ดังนี้ 1.เจ้าของกิจการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีการตรวจสอบเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สให้ได้มาตรฐานและปลอดภัย โดยติดตั้งในห้องที่มีการระบายอากาศที่เพียงพอ ควรติดตั้งพัดลมดูดอากาศบริเวณใกล้เครื่องทำน้ำอุ่น ไม่เกิน 1 เมตร ควรติดตั้งพัดลมระบายอากาศในห้องพักเพิ่มเติม กรณีถ้ามีการใช้อุปกรณ์ชนิดก๊าซหุงต้มในห้องพัก ติดป้ายเตือน และบอกวิธีใช้งานอย่างชัดเจน 2.ผู้ที่เข้าพักอาศัยควรสังเกตอาการที่อาจเกิดขึ้นจากการสูดดมแก๊สระหว่างการใช้ห้องน้ำ เช่น วิงเวียน หน้ามืด หายใจลำบาก หรือหากได้กลิ่นแก๊ส ควรรีบปิดเครื่องและออกจากห้องน้ำทันที 3.กลุ่มเสี่ยงหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ห้องน้ำที่มีเครื่องทำน้ำอุ่นแบบใช้ระบบแก๊สมากขึ้น เนื่องจากคนกลุ่มนี้หากสูดดมแก๊สเข้าไปอาจทำให้เสียชีวิตได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่น 4.ควรให้ความรู้แก่ประชาชนที่เข้าพักในสถานที่ที่มีการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ 5.ในกรณีที่ไม่มีพัดลมดูดอากาศ ให้สำรวจว่าประตูห้องน้ำมีช่องกว้างพอสมควรให้อากาศจากภายนอกเข้ามาได้หรือไม่ หากไม่มีทั้งสองอย่างให้แง้มประตูขณะอาบน้ำ เพื่อให้มีช่องลมผ่านเข้ามา 6.สถานประกอบการควรมีถังออกซิเจนขนาดเล็ก เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยกรณีฉุกเฉิน 7.ควรติดตั้งออกซิเจนกระป๋องพร้อมหน้ากากภายในห้องพักทุกห้อง เพื่อใช้กรณีฉุกเฉินพบผู้หมดสติจากการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส และข้อแนะนำการใช้ให้เห็นเด่นชัด ทั้งนี้ หากพบเห็นคนหมดสติขณะอาบน้ำ ควรเปิดประตูเพื่อระบายอากาศ นำผู้ป่วยไปยังพื้นที่โล่ง ปฐมพยาบาลเบื้องต้น และโทรแจ้งสายด่วน 1669 สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
*********************************
ข้อมูลจาก : กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค
วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563