สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค เผยแพร่พยากรณ์โรคฯ ฉบับที่ 4/2564 "เตือนประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ที่ยังมีฝนตก และมีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ ระวังป่วยโรคไข้ฉี่หนู แนะควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน"

 

กรมควบคุมโรค ขอเผยแพร่ “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์”

ฉบับที่ 4/2564 ประจำสัปดาห์ที่ 4 (วันที่ 24 - 30 ม.ค. 64)

 

          “จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์ของโรคเลปโตสไปโรซิสหรือโรคไข้ฉี่หนูในปี 2563 พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยรวมทั้งสิ้น 1,603 ราย เสียชีวิต 21 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน  กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 45-54 ปี รองลงมา 35-44 ปี และอายุ 25-34 ปี ส่วนใหญ่ประกอบชีพเกษตรกร  โดยพื้นที่ที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคใต้ รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง โดยจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ระนอง ยะลา พังงา พัทลุง และสงขลา   ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยในภาคใต้มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา จากเดิม (ร้อยละ 36.5) เป็น (ร้อยละ 55.6)  สำหรับสถานการณ์โรคไข้ฉี่หนูในปี 2564 นี้ ตั้งแต่วันที่ 1–20 มกราคม 2564 พบผู้ป่วย 32 ราย โดยพบผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ 25 ราย (ร้อยละ 78.1) และมีรายงานผู้เสียชีวิต 2 ราย”

          “การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้ คาดว่าโอกาสพบผู้ป่วยโรคเลปโตสไปโรซิสหรือโรคไข้ฉี่หนูเพิ่มขึ้น  โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง เนื่องจากมีฝนตกหนักในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังและสภาพพื้นดินเปียกชื้น อาจมีเชื้อก่อโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือโรคไข้ฉี่หนู ซึ่งพบอยู่ในปัสสาวะของหนู รวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ เช่น สุนัข แมว โค แพะ แกะ และมักจะปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำขัง พื้นดินที่เปียกชื้น ทำให้ประชาชนอาจได้รับเชื้อโรคดังกล่าวจากการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานานได้ โดยเชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยขีดข่วน รอยถลอกตามผิวหนัง เยื่อบุตา จมูก ปาก หรือการไชเข้าทางผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน รวมถึงการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อโรค  กรมควบคุมโรค ขอแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำที่ท่วมขังหรือเดินในพื้นที่ชื้นแฉะ โดยเฉพาะผู้ที่มีบาดแผล รอยถลอก รอยขีดข่วน เชื้อโรคอาจเข้าสู่ร่างกายได้ หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำหรือแช่น้ำ ควรสวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น รองเท้าบูท ถุงมือยาง หรือวัสดุที่กันน้ำได้ เพื่อป้องกันผิวหนังสัมผัสกับเชื้อโรคโดยตรง และหากเดินในพื้นที่ชื้นแฉะด้วยเท้าเปล่า ควรรีบล้างด้วยน้ำสบู่และเช็ดให้แห้งโดยเร็ว หากมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง หนาวสั่น ตาแดง ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะที่น่องและโคนขา ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาโดยเร็ว และแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำย่ำโคลนให้แพทย์ทราบ เพื่อแพทย์จะได้ประเมินการรักษาได้อย่างถูกต้อง สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422”

 

*******************************************************

ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 24 มกราคม 2564


ข่าวสารอื่นๆ