สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนหลีกเลี่ยงการรับประทานหมูดิบ หรือสุกๆดิบๆ เสี่ยงป่วยด้วย โรคไข้หูดับหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้

            กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการรับประทานหมูดิบ หรือสุกๆดิบๆ เพราะเสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้หูดับ อาจทำให้หูหนวกถาวรหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ พร้อมแนะวิธีป้องกันโดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ไม่ใช้เขียงของดิบและของสุกร่วมกัน ไม่สัมผัสเนื้อหมูและเลือดดิบด้วยมือเปล่า

            วันนี้ (23 มิถุนายน 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีที่มีรายงานข่าวพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้หูดับในจังหวัดพิษณุโลก นั้น กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า จากรายงานการสอบสวนเบื้องต้นพบว่า ผู้ป่วยซื้อหมูจากห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งมาประกอบอาหารปิ้งย่างหมูกระทะร่วมกับเพื่อนจำนวนหนึ่ง ต่อมามีอาการท้องเสีย เป็นไข้ อาเจียน ไปรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลกแพทย์สงสัยป่วยด้วยโรคไข้หูดับ จึงนำเลือด  ส่งตรวจผลยืนยันติดเชื้อแบคทีเรียสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส ต่อมาอาการหนักจนกระทั่งเสียชีวิต ขณะนี้กรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรค ที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก (สคร.2 พิษณุโลก) ส่งทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค (JIT) เมื่อมีเหตุโรคและภัยสุขภาพ ลงพื้นที่ร่วมกับโรงพยาบาลพุทธชินราช สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก และหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องแล้ว รวมถึงการดูแลสุขภาพของประชาชน พร้อมทั้งสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้หลีกเลี่ยงการกินหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เพราะเสี่ยงป่วยโรคไข้หูดับได้     

            สถานการณ์ของโรคไข้หูดับ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -11 มิถุนายน 2564 พบผู้ป่วยแล้ว 243 ราย เสียชีวิต 11 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุและวัยทำงาน ได้แก่ อายุมากกว่า 65 ปี รองลงมา คืออายุ 55-64 ปี และ 45-54 ปี ตามลำดับ ส่วนภาคที่มีอัตราป่วยที่สุดคือ ภาคเหนือ (พบผู้ป่วย 162 ราย คิดเป็นร้อยละ 66 ของผู้ป่วยทั้งหมด) จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ลำปาง พะเยา อุตรดิตถ์ นครราชสีมา และสุโขทัย ตามลำดับ ส่วนข้อมูลสถานการณ์ของโรคดังกล่าวในปี 2563 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยแล้ว 342 ราย เสียชีวิต 12 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยในภาคเหนือจำนวน 217 ราย คิดเป็นร้อยละ 63 ของผู้ป่วยทั้งหมด ดังนั้น ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามวิธีการป้องกันโรคไข้หูดับอย่างเคร่งครัด

           โรคไข้หูดับ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่กำลังป่วย สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ 1.เกิดจากการบริโภคเนื้อและเลือดหมู ที่ปรุงแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ 2.การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมูที่เป็นโรค จากทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา หรือสัมผัสเลือดของหมูที่กำลังป่วย หลังจากได้รับเชื้อ 3-5 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หากพบว่ามีอาการดังกล่าว ขอให้รีบพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการกินหมูดิบและสัมผัสเนื้อหมูให้ทราบเพราะหากมาพบแพทย์และวินิจฉัยได้เร็ว    จะช่วยลดอัตราการเกิดหูหนวกและการเสียชีวิตได้  ซึ่งผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน ไต มะเร็ง หัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น หากติดเชื้อจะมีอาการป่วยรุนแรงเนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำ

            อธิบดีกรมควบคุมโรค ขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังเรื่องการประกอบอาหารและรับประทานอาหารดังกล่าว โดยขอให้เน้นการรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ใหม่ และสะอาด โดยเฉพาะเนื้อหมูที่ชำแหละกันเองในหมู่บ้าน และนำมารับประทานดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้หมูดิบ ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านที่มีการใส่เลือดหมูดิบผสม หรือการปิ้งย่างไม่สุก ทำให้เสี่ยงโรคไข้หูดับ พร้อมแนะนำวิธีการป้องกันโรคไข้หูดับ คือ 1.ควรบริโภคอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อน ทำสดใหม่ โดยเฉพาะเนื้อหมู ควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้าที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ ขอให้แยกอุปกรณ์ที่ใช้หยิบเนื้อหมูสุกและดิบออกจากกัน ไม่ใช้เขียงของดิบและของสุกร่วมกัน และ 2.ไม่สัมผัสเนื้อหมูและเลือดดิบด้วยมือเปล่า โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

*************************

ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 23 มิถุนายน 2564


ข่าวสารอื่นๆ