สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค เผยแพร่พยากรณ์โรคฯ ฉบับที่ 30/2564

กรมควบคุมโรค ขอเผยแพร่ “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์”

ฉบับที่ 30/2564 ประจำสัปดาห์ที่ 35 (วันที่ 29 ส.ค. – 4 ก.ย. 64)

 

          จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าของกรมควบคุมโรคในปีนี้ พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 5 รายใน 4 จังหวัดคือ จังหวัดสุรินทร์ 2 ราย บุรีรัมย์ สงขลา และชลบุรี จังหวัดละ 1 ราย  และได้รับรายงานเหตุการณ์ผู้เสียชีวิตเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา 1 รายที่จังหวัดชลบุรี มีประวัติถูกสุนัขของตนเองซึ่งไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ากัดที่มือ เป็นแผลเลือดออก และล้างน้ำทำแผลปกติ แต่ผู้เสียชีวิตไม่ได้ไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีน

           “การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้อาจมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าได้ เนื่องจากโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปีและเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยเชื้อจะเข้าทางบาดแผล ผ่านการกัด ข่วน เลีย หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิดที่ติดเชื้อ เช่น สุนัข แมว หนู ลิง ค้างคาว สัตว์ที่พบบ่อยที่สุด คือ สุนัข รองลงมาคือ แมวและโค จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังตนเองและบุตรหลานไม่ให้ถูกสัตว์กัดข่วน”

          “กรมควบคุมโรค ขอแนะนำให้ประชาชนหมั่นสังเกตอาการสุนัขและแมว และนำไปฉีดวัคซีนตามกำหนดที่จุดบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (ในสัตว์) สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครมีบริการที่ศูนย์บริการฉีดวัคซีน 8 แห่ง ได้แก่ 1) ศูนย์บริการสาธารณสุข 23 สี่พระยา 2) ศูนย์บริการสาธารณสุข 43 มีนบุรี 3) ศูนย์บริการสาธารณสุข 21 วัดธาตุทอง 4) ศูนย์บริการสาธารณสุข 24 บางเขน  5) ศูนย์บริการสาธารณสุข 33 วัดหงส์รัตนาราม 6) ศูนย์บริการสาธารณสุข 29 ช่วงนุชเนตร 7) ศูนย์บริการสาธารณสุข 30 บางกอกน้อย และ 8) กลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าดินแดง หรือหน่วยบริการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าฟรีในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ รวมถึงหลีกเลี่ยงการสัมผัสสุนัขหรือแมวที่ไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนที่ชัดเจน เพื่อลดความเสี่ยงการรับเชื้อพิษสุนัขบ้า หากถูกสุนัขหรือแมวกัด ข่วน ให้รีบล้างแผลทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาดและฟอกสบู่หลายๆ ครั้ง เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อและรีบไปโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยใกล้บ้าน เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้เร็วที่สุด โดยการฉีดวัคซีนให้ครบชุดและตรงตามนัดจึงจะได้ผลเพราะหากติดเชื้อพิษสุนัขบ้าและปล่อยทิ้งไว้จนเชื้อเข้าสู่ระบบประสาทจนแสดงอาการป่วยแล้ว จะไม่สามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”                     

 

*******************************************************

ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 29 สิงหาคม 2564


ข่าวสารอื่นๆ