กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์วันหลอดเลือดสมองโลกหรือวันอัมพาตโลก ปี 2564 “รู้สัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมอง เสี้ยวนาทีมีค่าช่วยชีวิต” เน้นให้ประชาชนสังเกตอาการตนเอง ตามหลักการ F.A.S.T. หากมีอาการให้รีบไปพบแพทย์ รักษาเร็วจะมีโอกาสหายมาก ผลแทรกซ้อนต่ำ และความพิการน้อยลง
วันนี้ (28 ตุลาคม 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตและทุพพลภาพ ในปีที่ผ่านมาทั่วโลกพบมีผู้ป่วย 13.7 ล้านคน โดย 1 ใน 4 มีอายุ 25 ปีขึ้นไป เสียชีวิต 5.5 ล้านคน และมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 6.7 ล้านคนต่อปี ส่วนประเทศไทยในปี 2562 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง 34,728 คน เพศชาย 20,034 คน และเพศหญิง 14,694 คน และองค์การ โรคหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Organization : WSO) ได้กำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันหลอดเลือดสมองโลกหรือวันอัมพาตโลก (World Stroke Day)” โดยในปี 2564 นี้ ได้จัดโครงการรณรงค์ภายใต้แนวคิด Minutes can save lives: Learn the signs, Say it’s a stroke Save #Precioustime : รู้สัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมอง เสี้ยวนาทีมีค่าช่วยชีวิต” มุ่งเน้นเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมองและเข้าถึงการรักษาได้อย่างทันท่วงที เพราะทุกนาทีที่เซลล์สมองขาดเลือดจะมีเซลล์สมองตายประมาณล้านเซลล์
ปัจจุบันโรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ แม้ว่าจะไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่อาจทำให้เกิดความพิการในระยะยาว ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่นตลอดชีวิต ปัจจัยเสี่ยงคือ โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคอ้วน ขาดการออกกำลังกาย บริโภคอาหารไม่เหมาะสม สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งโรคดังกล่าว เกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองตีบ อุดตัน หรือแตก ทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือดและเนื้อสมองถูกทำลาย สูญเสียการทำหน้าที่จนเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น กรมควบคุมโรค จึงขอให้ประชาชนสังเกตอาการตนเอง ตามหลักการ F.A.S.T. ดังนี้ F (Face) ใบหน้าชาหรืออ่อนแรง ปากเบี้ยว มุมปากตก ตามัวเห็นภาพซ้อน A (Arm) แขนหรือขาอ่อนแรงข้างใดข้างหนึ่ง
ยกแขนหรือขาไม่ขึ้น S (Speech) พูดไม่ชัด พูดลำบาก มีปัญหาในการพูด T (Time) ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันทีภายใน 4 ชั่วโมง หากพบอาการข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดหรือโทรสายด่วน 1669 เพื่อจะได้รับการรักษาและฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติมากที่สุด
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง โดยเริ่มตั้งแต่การตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมระดับความดันโลหิต ไขมันและระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เลิกสูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง อาหารรสเค็มจัด และอาหารที่มีไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน เครื่องในสัตว์ รับประทานผักและผลไม้ทุกวัน ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง พฤติกรรมเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิด
โรคหลอดเลือดสมอง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
***************************
ข้อมูลจาก : กองโรคไม่ติดต่อ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 28 ตุลาคม 2564