สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค พยากรณ์โรคฯ ฉบับที่ 42/2564 "เตือนประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ยังมีฝนตก อาจมีน้ำท่วมขังและดินชื้นแฉะ ระวังป่วยโรคเมลิออยโดสิส ผู้ที่มีบาดแผลให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน"

กรมควบคุมโรค ขอเผยแพร่ “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์”

ฉบับที่ 42/2564 ประจำสัปดาห์ที่ 48 (วันที่ 28 พ.ย. - 4 ธ.ค. 64)

 

          จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคโรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis) ในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 19 พฤศจิกายน 2564 พบผู้ป่วย 2,082 ราย เสียชีวิต 6 ราย กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 55-64 ปี รองลงมาคือ อายุ 45-54 ปี และอายุมากกว่า 65 ปี ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานและกลุ่มผู้สูงอายุ โดยพบมากที่สุดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ตามลำดับ พบในกลุ่มอาชีพเกษตรกรมากที่สุด

          “การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคเมลิออยโดสิสได้ เนื่องจากขณะนี้ในพื้นที่ภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ทำให้มีน้ำท่วมขังหรือดินชื้นแฉะ ซึ่งประชาชนที่มีความเสี่ยงป่วยโรคเมลิออยโดสิส ได้แก่ ผู้อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม เกษตรกร ผู้ที่ต้องทำงานสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หรือสัมผัสสัตว์เลี้ยง เช่น แมว สุนัข หมู ม้า วัว ควาย แกะ หรือแพะ เป็นต้น ผู้ที่มีบาดแผลที่เท้า รวมถึงผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ธาลัสซีเมีย โรคไตวายเรื้อรัง โดยเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุจะอยู่ในดินและน้ำ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทางคือ 1.ผ่านทางบาดแผลบนผิวหนัง  2.สูดหายใจเอาฝุ่นจากดินที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป  3.ดื่มหรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป หลังติดเชื้อผ่านไป 1-21 วัน บางรายอาจนานเป็นปี จะมีอาการเจ็บป่วย ซึ่งอาการของโรคนี้ไม่มีลักษณะเฉพาะ แต่จะมีความหลากหลายคล้ายโรคติดเชื้ออื่นๆ หลายโรค เช่น มีไข้สูง มีฝีที่ผิวหนัง มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ อาจติดเชื้อเฉพาะทื่หรือติดเชื้อแพร่กระจายทั่วทุกอวัยวะทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากอาการไข้เป็นหลัก จึงทำให้วินิจฉัยโรคได้ยาก ต้องอาศัยการตรวจเพาะเชื้อทางห้องปฏิบัติการเป็นหลัก เพื่อใช้ประกอบการตรวจวินิจฉัยและรักษา  กรมควบคุมโรค ขอแนะนำวิธีการป้องกันโรคเมลิออยโดสิส ดังนี้ 1.ผู้ที่มีบาดแผลให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากจำเป็นขอให้สวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาวหรือชุดลุยน้ำและรีบทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดและสบู่  2.หากมีบาดแผลที่ผิวหนัง ควรรีบทำความสะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและน้ำจนกว่าแผลจะแห้งสนิท  3.รับประทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำ   ต้มสุก  4.หลีกเลี่ยงการสัมผัสลมฝุ่น และการอยู่ท่ามกลางสายฝน สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค  โทร. 1422”

 

*******************************************************

ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564


ข่าวสารอื่นๆ