กรมควบคุมโรค เน้นย้ำความสำคัญสร้างภูมิคุ้มกัน ให้ประชาชนที่ฉีดเข็ม 2 ก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 รีบไปรับบูสเตอร์โดส รองรับการระบาดของโรคโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน
วานนี้ (4 มกราคม 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อโคโรนา 2019 ว่า สถานการณ์ทั่วโลกได้รับรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิน 1 ล้านคน สายพันธุ์ที่ระบาดใหญ่ คือ เดลต้า (Delta) และ โอมิครอน (Omicron) ซึ่งประเทศไทยได้ระงับการตรวจหาเชื้อแบบ Test&Go จึงช่วยชะลอผู้ติดเชื้อเดินทางเข้ามาในประเทศไทย สอดคล้องกับแนวโน้มของโรคที่ลดน้อยลงเพราะการฉีดวัคซีนให้กับคนในประเทศ ทั้งนี้ จากเทศกาลวันหยุดยาวที่มีการเฉลิมฉลองทั้งคริสต์มาสและปีใหม่ ทำให้เมืองท่องเที่ยวมีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยข้อมูล ณ วันที่ 4 ม.ค. 65 จังหวัดชลบุรีมีผู้ติดเชื้อ 499 ราย อุบลราชธานี 328 ราย ภูเก็ต 149 ราย สมุทรปราการ 120 ราย และเชียงใหม่ 117 ราย สาเหตุสำคัญเกิดจากการรวมตัวกันทำกิจกรรม โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย อยู่ในห้องที่ปิดอับ ไม่มีการระบายอากาศที่ดี เช่น ร้านอาหารกึ่งผับบาร์ จึงมีการเน้นย้ำให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดทุกจังหวัดเข้มงวดสถานที่ที่มีความเสี่ยง หากไม่ปฏิบัติตามที่กำหนดให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง
นายแพทย์โอภาส กล่าวอีกว่า ในวันที่ 4 มกราคม ถือเป็นวันแรกของการรับมือโควิด 19 เข้าปีที่ 3 สิ่งที่คาดหวังในปีนี้ คือการปรับระบบให้กลายเป็นโรคประจำถิ่น โดยมีปัจจัยหลัก 3 อย่าง 1.เชื้ออ่อนลง ไม่ทำให้คนที่ติดเชื้อถึงขั้นเสียชีวิต แต่แพร่กระจายได้มากขึ้น ซึ่งตรงกับสายพันธุ์โอมิครอน 2.ประชากรมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น เกิดได้จากการฉีดวัคซีน ซึ่งปีนี้จะเป็นการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็ม 3 หรือเข็ม 4 และ 3.การจัดการสิ่งแวดล้อม ลดความเสี่ยง การรักษาดีขึ้น ทำให้ระบบสาธารณสุขรองรับได้และมียามากขึ้น อย่างไรก็ตาม ขอเน้นย้ำผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็ม 2 ก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ให้ไปรับการฉีดวัคซีนบูสเตอร์หรือเข็ม 3 ได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ส่วนบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ที่ฉีดเข็ม 3 แล้วเกิน 3 เดือน ให้เข้ารับเข็ม 4 ได้ เพื่อรองรับการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนต่อไป
นายแพทย์โอภาส กล่าวถึงข่าวการพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่และโควิด 19 พร้อมกันในประเทศอิสราเอลว่า 2 โรคนี้เกิดจากเชื้อคนละชนิด แต่คนสามารถติดเชื้อทั้ง 2 ชนิดพร้อมกันได้ แต่เกิดได้ไม่ง่ายนัก และพบเป็นครั้งแรก ซึ่งอาการของทั้ง 2 โรคนี้คล้ายคลึงกัน มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว หรือเป็นปอดบวมได้ จากที่ติดตามข่าวพบว่า เป็นหญิงตั้งครรภ์ อาการไม่รุนแรง และหายเป็นปกติแล้ว สำหรับการป้องกันสามารถทำได้ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ อีกทั้งมีวัคซีนป้องกัน มาตรการป้องกันตนเองจึงยังเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันได้ทั้ง 2 โรค สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422
********************************
ข้อมูลจาก : สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค
วันที่ 5 มกราคม 2565