กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขในการเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรณีฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เตือนประชาชนเตรียมพร้อมรับมือและงดกิจกรรมในพื้นที่โล่ง โดยเฉพาะผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคสำคัญ
วันนี้ (13 มกราคม 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากข้อมูลเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพ พบผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวเนื่องจากฝุ่น PM2.5 สูงสุดในช่วงเดือนธันวาคม – มีนาคม ของทุกปี ภาคที่มีอัตราป่วยสะสมสูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ และภาคกลาง โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อพิจารณาร่วมกับ ข้อมูลของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) และรายงานการติดตาม ประจำวันที่ 13 มกราคม 2565 พบว่า ผลการตรวจวัด PM2.5 ภาพรวมประเทศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ (ค่ามาตรฐาน คือ ไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) ยกเว้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดตาก ที่มีแนวโน้มพบค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน สาเหตุสำคัญของการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มาจากการเผาไหม้ท่อไอเสียของเครื่องยนต์ ควันบุหรี่ การเผาขยะ เผาหญ้า กระบวนการเผาไหม้เชื้อเพลิงในโรงงาน เป็นต้น นอกจากนี้ฝุ่น PM2.5 ยังสามารถรวมตัวกับสารมลพิษอื่นๆ เช่น สารไฮโดรคาร์บอน และโลหะหนักได้ ด้วยขนาดที่เล็กมากจึงสามารถลอดผ่านการกรองของขนจมูกไปยังหลอดลม จนถึงถุงลมปอด และซึมเข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลกระทบต่อร่างกาย จึงขอเตือนประชาชนเตรียมพร้อมรับมือและงดกิจกรรมในพื้นที่โล่ง
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงสาธารณสุข ร่วมบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ภายใต้ 3 มาตรการในการรับมือฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ประกอบด้วย 1) การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ 2) การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่แหล่งกำเนิด และ 3) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ลดและป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ซึ่งกรมควบคุมโรคได้เตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรณีฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) และในช่วงที่ค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน ขอให้ประชาชนตรวจเช็คค่าฝุ่น PM2.5 จากเว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษ http://air4thai.pcd.go.th/ หรือผ่านทางแอปพลิเคชัน Air4Thai ก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโอกาสในการรับหรือสัมผัสฝุ่น เช่น ตำรวจจราจร คนขับรถสาธารณะ คนกวาดถนน เป็นต้น และผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคสำคัญที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ 1.กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด 2.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ 3.กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ 4.กลุ่มโรคตาอักเสบ ซึ่งหากได้รับฝุ่นเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เกิดการเจ็บป่วย หรือมีผลต่อสุขภาพรุนแรงกว่าคนทั่วไป ควรสวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่น (N95) หรือหน้ากากที่มีแผ่นกรองคาร์บอน เนื่องจากมีประสิทธิภาพที่สามารถกรองอนุภาคขนาดเล็กได้ ทุกครั้งที่ออกจากบ้านหรือเมื่อไปในพื้นที่ที่มีระดับฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน หากมีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ใจสั่น ระคายเคืองตา หรือหากมีอาการผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
ด้านแพทย์หญิงหรรษา รักษาคม ผู้อำนวยการกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า พระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 เป็นกลไกสำคัญในการวางระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคจากฝุ่นละออง PM2.5 เมื่อพบจำนวนผู้ป่วยมากผิดปกติ ในช่วงที่ค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน จะมีการรายงานมายังหน่วยงานปฏิบัติการควบคุมโรคระดับจังหวัด และกทม. หรือหน่วย ENVOCC CU เพื่อลงพื้นที่สอบสวนและควบคุมโรคได้อย่างทันการณ์ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
*************************
ข้อมูลจาก : กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 13 มกราคม 2565