สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค พยากรณ์โรคฯ ฉบับที่ 8/2565 "เตือนประชาชนในช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลง ระวังป่วยโรคไข้หวัดใหญ่"

กรมควบคุมโรค ขอเผยแพร่ “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์”

ฉบับที่ 8/2565 ประจำสัปดาห์ที่ 9 (วันที่ 27 ก.พ. - 5 มี.ค. 65)

 

           “จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรคสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-14 กุมภาพันธ์ 2565 มีรายงานผู้ป่วย 565 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ กลุ่มเด็กแรกเกิด - 4 ปี (6.71 ต่อประชากรแสนคน) รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5-14 ปี (1.30) และกลุ่มอายุ 15-24 ปี (0.70) ตามลำดับ  ส่วนในรายงาน 506 กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ อายุ 1 ปี รองลงมา อายุ15-24 ปี และ อายุ 25-34 ปี ตามลำดับ จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เชียงราย นราธิวาส พิษณุโลก สุโขทัย ศรีสะเกษ ตามลำดับ  ซึ่งอัตราป่วยในปีนี้มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากประชาชนมีการป้องกันตนเองตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 ซึ่งมีผลในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ด้วยเช่นกัน ส่งผลให้การติดเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ของปี 2564 ลดลงมากกว่า 10 เท่าของปีที่ผ่านมา”

          “การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้จะมีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ได้ เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ประชาชนจึงควรดูแลตนเองเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์ โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ และโรคโควิด 19 โดยการสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล หลีกเลี่ยงการเอามือเข้าปาก หรือขยี้ตา ไม่ใช้ของส่วนตัวรวมกับคนอื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ หลีกเลี่ยงคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย และเมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด รวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งการฉีดวัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ได้ และยิ่งเป็น ผู้ที่มีความเสี่ยงจะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา ควรเข้ารับการฉีดป้องกันเพื่อผลลัพธ์ที่ดี สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด 19 ไปแล้ว ควรได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ด้วย เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสคนละชนิดกัน ประชาชนควรได้รับวัคซีนทั้ง 2 ตัวและให้ฉีดห่างกัน 2 สัปดาห์ โดยเฉพาะประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง เพื่อป้องกันการเกิดโรคปอดบวม ทั้งยังช่วยลดความรุนแรงของโรคและลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยลงได้  กรมควบคุมโรคจึงขอรณรงค์และเชิญชวนให้ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงได้ แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป  2.เด็กอายุ 6 เดือน - 2 ปี  3.ผู้มีโรคเรื้อรังได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรังหอบหืดหัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัดและเบาหวาน  4.ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป  5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้  6.โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูุมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งรวมผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ และ  7.โรคอ้วน คือผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือมีดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร เข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐใกล้บ้าน และที่สถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”                                      

*******************************************************

ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 1 มีนาคม 2565


ข่าวสารอื่นๆ