สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค พยากรณ์โรคฯ ฉบับที่ 16/2565 "เตือนประชาชนช่วงนี้ฝนตกหลายพื้นที่ อาจมีน้ำท่วมขัง ระวังป่วยโรคไข้เลือดออก"

กรมควบคุมโรค ขอเผยแพร่ “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์”

ฉบับที่ 16/2565 ประจำสัปดาห์ที่ 17 (วันที่ 24 - 30 เม.ย. 65)

“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 20 เมษายน 2565 พบผู้ป่วย จำนวน 1,098 ราย เสียชีวิต 2 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ อายุ 5-14 ปี รองลงมา คือ 15-24 ปี และเด็กแรกเกิด - 4 ปี ตามลำดับ จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูง 5 จังหวัดแรก คือ กรุงเทพมหานคร แม่ฮ่องสอน นครปฐม พัทลุง และราชบุรี ตามลำดับ”

          “การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงนี้ มีฝนตกในหลายพื้นที่ ทำให้น้ำขังในภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย  และกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะกลุ่มเด็กวัยเรียน ที่อยู่บ้านในช่วงปิดเทอม มีโอกาสถูกยุงลายกัดในช่วงกลางวันได้  จึงขอให้ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ รวมถึงผู้ปกครอง ช่วยกันกำจัดแหล่งพันธุ์ยุงลายบริเวณชุมชน และรอบบ้าน โดยเน้นมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1) เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง ไม่มีบริเวณอับทึบให้ยุงลายเกาะพัก  2) เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บเศษภาชนะที่ต้องการทิ้งไว้ในถุงดำมัดปิดปากถุง และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง  และ 3) เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะที่ไม่ใช้แล้ว และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำหรือปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะที่ปิดฝาไม่ได้ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ และเน้นการป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยทายากันยุง และนอนในมุ้ง ซึ่งสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1. โรคไข้เลือดออก 2. โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3. โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา  กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่า หากบุตรหลานหรือคนในครอบครัวมีอาการไข้สูง ให้หลีกเลี่ยงการซื้อยารับประทานเอง หากจำเป็นให้ใช้ยาพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสด เช่น ยาไอบรูโปรเฟน แอสไพริน หรือยาแก้ปวดไดโคลฟิแนก เพราะถ้าเป็นไข้จากโรคไข้เลือดออก ยากลุ่มนี้อาจมีผลทำให้เลือดออกมากขึ้น  ทั้งนี้ เมื่อรับประทานยาพาราเซตามอลแล้ว อาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”

     

*******************************************************

ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 26 เมษายน 2565


ข่าวสารอื่นๆ