สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
Responsive image

กรมควบคุมโรค กระตุ้นคนไทย หากรู้ตัวว่า “เสี่ยง” สามารถตรวจเอชไอวีได้ฟรี ปีละ 2 ครั้ง “HIV ตรวจเร็ว รู้ก่อน ก้าวต่อได้”

          กรมควบคุมโรค เชิญชวนหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมกันจัดกิจกรรมวันรณรงค์ตรวจเอชไอวี (Voluntary Counseling and Testing Day: VCT Day) ในวันที่ 1 กรกฎาคม ของทุกปี เพื่อส่งเสริมให้ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีและประชาชนได้รับการตรวจและทราบสถานะการติดเชื้อของตนเองโดยเร็ว เพื่อเข้าสู่การรักษาต่อได้

          วันนี้ (1 กรกฎาคม 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ผู้ป่วยเอชไอวีของประเทศไทย ณ สิ้นปี 2564 พบว่า มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี จำนวน 520,345 คน (ข้อมูลจาก Thailand Spectrum-AEM, ณ วันที่ 22 เม.ย. 65) และมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่รู้สถานะการติดเชื้อของตนเอง จำนวน 491,017 คน คิดเป็นร้อยละ 94 (ข้อมูลจากระบบสารสนเทศการให้บริการผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์แห่งชาติ เดือนมีนาคม 2565) ซึ่งยังมีผู้ติดเชื้อบางส่วนที่ยังไม่ทราบสถานะการติดเชื้อของตนเอง เนื่องจากผู้ติดเชื้อเอชไอวีในระยะแรก ส่วนใหญ่ไม่ปรากฏอาการ จะทราบได้ก็ต่อเมื่อได้ตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีเท่านั้น กรมควบคุมโรค จึงส่งเสริมให้ประชาชนเข้ารับบริการตรวจคัดกรองเพื่อทราบสถานะการติดเชื้อของตนเอง และเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็ว ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวีดีขึ้น และลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้

          การรณรงค์ปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด HIV ตรวจเร็ว รู้ก่อน ก้าวต่อได้” เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักถึงการรู้สถานะการติดเชื้อของตนเองและเข้ารับบริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี ตรวจเร็ว รู้ก่อน: สำหรับคนไทยทุกคนที่มีบัตรประจำตัวประชาชน ทุกสิทธิ์การรักษา สามารถตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีได้ฟรี ปีละ 2 ครั้ง ในทุกโรงพยาบาลที่ให้บริการภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งสามารถตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีและรู้ผลภายในวันเดียว นอกจากนี้ยังมีอีกทางเลือกหนึ่ง คือ การตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง (HIV self-test) โดยในปัจจุบันมี 2 ชนิด คือ ชุดตรวจจากการเจาะเลือดที่ปลายนิ้วมือ รู้ผลภายใน 1 นาที และชุดตรวจโดยใช้สารน้ำในช่องปาก รู้ผลภายใน 20 นาที การตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเองมีข้อดี คือ สะดวก มีความเป็นส่วนตัว สามารถตรวจและทราบผลได้ด้วยตนเอง เหมาะกับผู้ที่ต้องการรู้ว่าตนเองติดเชื้อหรือไม่แต่ไม่สะดวกเดินทางไปโรงพยาบาล โดยสามารถหาซื้อชุดตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเองได้ที่ร้านขายยาทั่วไป แต่ในปัจจุบันอาจยังมีการจำหน่ายไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ หากผลการตรวจคัดกรองเบื้องต้นด้วยตนเองเป็นบวก ควรตรวจยืนยันผลที่โรงพยาบาลอีกครั้ง เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา แต่หากผลตรวจยืนยันเป็นลบ จะได้รับคำปรึกษาเพื่อการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น การป้องกันการถ่ายทอดเชื้อให้กับคู่ และการชวนคู่มาตรวจ เป็นต้น

          ก้าวต่อได้ ด้วยยาต้านไวรัส: หากพบว่าติดเชื้อเอชไอวี ควรเข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยยาต้านไวรัสโดยเร็ว (Same day ART) เพื่อให้สามารถกดปริมาณไวรัสในกระแสเลือดได้สำเร็จ ทำให้ลดโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา วัณโรคในปอดหรือต่อมน้ำเหลือง ปอดอักเสบ งูสวัด ตาบอดจากไวรัสขึ้นจอตา และโรคมะเร็งบางชนิด เป็นต้น  นอกจากนี้ การคงอยู่ในระบบการรักษา โดยการกินยาอย่างต่อเนื่อง ตรงเวลา และสม่ำเสมอ จะทำให้ปริมาณเชื้อไวรัสในกระแสเลือดต่ำมากจนตรวจไม่พบเชื้อ จะไม่ถ่ายทอดเชื้อให้ผู้อื่น ส่งผลต่อการลดการติดเชื้อรายใหม่ ลดการเสียชีวิต และผู้ติดเชื้อเอชไอวีก็สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ

          กรมควบคุมโรค ขอเชิญชวนหน่วยงาน และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ตลอดจนสื่อมวลชน ร่วมกันรณรงค์ตลอดทั้งเดือนกรกฎาคม เพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าใจและเห็นความสำคัญของการรู้สถานะการติดเชื้อของตนเองโดยเร็ว และเริ่มรักษาด้วยยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่องจนสามารถกดปริมาณไวรัสได้สำเร็จ จนไม่ถ่ายทอดเชื้อให้กับคู่ ผู้ติดเชื้อจะอยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีได้อย่างปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อน และสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้อย่างยืนยาว สามารถติดตามกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ ได้ทาง Facebook Page กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค และเพจ Safe SEX Story

 

 ***************************

ข้อมูลจาก : กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 1 กรกฎาคม 2565


ข่าวสารอื่นๆ