กองนวัตกรรมและวิจัย
Responsive image

กว่าจะมาเป็นกรมควบคุมโรค

กว่าจะมาเป็นกรมควบคุมโรค

                    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชดำริให้มีการจัดการสุขาภิบาล แผนกป้องกันความป่วยไข้ให้แก่ประชาชน ซึ่งในขณะนั้นได้มีการกระจัดกระจายกันอยู่ในตามกระทรวงต่าง ๆ  และทรงเห็นควรให้มีการรวมให้อยู่แผนกเดียวกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกกิจการสุขาภิบาลจากกระทรงวง   นครบาลมารวมกันกับกรมประชาภิบาล กระทรวงมหาดไทย ได้จัดตั้งกรมใหม่ขึ้น เรียกว่า กรมสาธารณสุข โดยให้สังกัดอยู่กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561


ประกาศกรมอนามัย รณรงค์ให้ประชาชนฉีดวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค มีวันที่ 27 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันสาธารณสุข

                ต่อมาในปี พ.ศ. 2472 ได้มีการปรับปรุงและขยายงานสาธารณสุขในส่วนกลาง คือได้ตั้งกองโรคติดต่อ เพิ่มขึ้นอีก 1 กอง และหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2575 งานด้านป้องกันและปราบปรามโรคติดต่อจะเป็นการป้องกันกาฬโรคโดยมีการกำจัดหนู และมีการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษให้แก่ประชาชน

      
เด็กที่ป่วยเป็นไข้ทรพิษ   


การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษที่จังหวัดร้อยเอ็ด


 หนังสือสุขศึกษาที่ให้ความรู้เรื่องการกำจัดหนูซึ่งเป็นพาหะของโรคติดต่อหลายชนิด

              ในปี พ.ศ. 2478 มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและขยายงานสาธารณสุขเพื่อให้การบริหารงานมีความเหมาะสม มีการรปรับเปลี่ยนชื่อกองบัญชาการเป็นสำนักงานเลขานุการ เปลี่ยนกองการเงินเป็นกองคลัง เปลี่ยนกองบรรณาธิการเป็นกองสุขศึกษา เปลี่ยนกองส่งเสริมสุขาภิบาลเป็นกองสาธารณสุขท้องที่ เปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลคนเสียจริตเป็นโรงพยาบาลโรคจิต ปรับปรุงสภาการแพทย์เปลี่ยนชื่อเป็นคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ปรับปรุงแผนกทะเบียนคนเกิดคนตายโดยตั้งเป็นกองสถิติขึ้น ปรับปรุงแผนกชันสูตรโรคขึ้นเป็นกองชันสูตรโรค ปรับปรุงแผนกอนาถาพยาบาลพระประแดงเป็นกองอนาถาพยาบาลโอนกิจการของสถานพยาบาลโรคเรื้อนจากสภากาชาดไทยมาตั้งขึ้นเป็นโรงพยาบาลโรคเรื้อน มีฐานะเท่ากับกองในสังกัดกรมสาธารณสุข โอนกองสุขาภิบาลไปขึ้นกับกรมมหาดไทยจัดตั้งขึ้นเป็นกองควบคุมเทศบาลและตั้งกองสาธารณสุขพระนครขึ้นให้ไปทำงานร่วมอยู่กับเทศบาลนครกรุงเทพฯ

           
โรงพยาบาลรักษาโรคเรื้อนในยุคแรก 

 


                  การตรวจหาผู้ป่วยโรคเรื้อน                         

                ในปี พ.ศ. 2485 ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามนโยบายของรัฐ เพื่อที่จะรวมงานด้านสาธารณสุขและการแพทย์ที่กระจัดกระจายกันอยู่ในที่ต่าง ๆ ให้มารวมอยู่ที่เดียวกันโดยได้มีการจัดตั้งขึ้นเป็นกระทรวง ได้มีการตราพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม (ฉบับที่ 3 ) พุทธศักราช 2485 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2485 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ตั้ง กระทรวงการสาธารณสุข ขึ้น (ต่อมาเปลี่ยนเป็นกระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ. 2495) และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2585 กระทรวงการสาธารณสุขแยกหน้าที่ราชการดังนี้ 1.สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี 2.สำนักงานปลัดกระทรวง 3.กรมการแพทย์ 4.กรมประชาสงเคราะห์ 5.กรมวิทยาลัยแพทยศาสตร์ 6.กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 7.กรมสาธารณสุข ต่อมามีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมสาธารณสุข ที่ตราไว้เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2485 โดยกรมสาธารณสุขมีการแบ่งส่วนราชการออกเป็นดังนี้ ส่วนกลางประกอบด้วย 1.สำนักงานเลขานุการกรม 2.กองสถิติพยากรณ์ชีพ 3.กองสุขศึกษา 4.กอบควบคุมโรคติดต่อ 5.กองสุขาภิบาล 6.กองอนามัยโรงเรียน 7.กองอาหารและยา 8.กองสงเคราะห์แม่และเด็ก 9.กองสาธารณสุขพระนคร ส่วนภูมิภาคประกอบด้วย 1.นายแพทย์ตรวจการ 2.สาธารณสุขจังหวัด 3.นายแพทย์โท 4.นายแพทย์เรือนจำ 5.สารวัตรสุขาภิบาล 6.ผู้ช่วยแพทย์ 7.นางสงเคราะห์ 8.นางผดุงครรภ์ชั้น 2 ในช่วงนี้งานควบคุมป้องกันโรคจะอยู่กับกรมการแพทย์และกรมสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์จะดูแลกิจการของงานโรงพยาบาล คือโรงพยาบโรคเรื้อน โรงพยาบาลบางรัก โรงพยายาลวัณโรค โรงพยาบาลบำราศนราดูร ส่วนงานควบคุมโรคอื่นๆจะอยู่ในความรับผิดชอบของกรมควบคุมโรคติดต่อ กรมสาธารณสุข


กระทรวงสาธารณสุขยุคแรก คำสะกดป้ายกระทรวงใช้ตามรูปแบบภาษาราชการในเวลานั้นว่า “กระซวงการสาธารนสุข”

                ในปี พ.ศ. 2495 ได้มีการเปลี่ยนชื่อ กรมสาธารณสุขเป็นกรมอนามัย มีการยกฐานะหน่วยงานเฉพาะโรคให้เป็นกอง คือ กองควบคุมวัณโรค กองควบคุมโรคเรื้อน ปรับปรุงขยายงานควบคุมโรคมาลาเรียนและโรคเท้าช้าง เป็นกองควบคุมมาลาเรียนและโรคเท้าช้าง รวมงานควบคุมคุดทะราดกับงานกามโรคตั้งขึ้นเป็นกองควบคุมกามโรคและคุดทะราด หากพิจารณาจากการทำงานเรื่องการควบคุมโรคภายใต้กระทรวงสาธารณสุขก่อน พ.ศ.2500 จะพบว่ามีลักษณะเป็นงานในรูปแบบโครงการควบคุมโรคที่แบ่งเป็นการเฉพาะแต่ละโรค อาทิ โครงการควบคุมโรคติตต่อ โครงการควบคุมกาฬโรค โครงการควบคุมพยาธิลำไส้ โครงการควบคุมป้องกันวัณโรค นับรวมกันได้ไม่น้อยกว่า 17 โครงการ โครงการต่างๆ เหล่านี้เกือบทั้งหมดเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ อย่างเช่น องค์การสหประชาติ องค์การอนามัยโลก กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ เมื่อดำเนินงานจนถึงเวลาสิ้นสุดโครงการ ภาระงานหรือทรัพยากรต่าง ๆ รวมไปถึงบุคลากรจึงถูกมอบหมายงานกลับมาอยู่ภายใต้โครงสร้างการทำงานตามปกติของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน


                                                                                      
กรมอนามัย                                                                                        


การฉีดพ่นดี.ดี.ที.กำจัดยุง  

                                                                       
 หน่วยควบคุมไข้มาลาเรีย

                                                                                               
สถานที่รักษาโรคมาลาเรียในชนบท     

   
 ผนังบ้านที่เขียนคำว่า D.D.T.

                ในปี พ.ศ. 2515 ได้มีการรวมกรมการแพทย์และอนามัยเข้าด้วยกันเป็นกรมการแพทย์และอนามัย งานควบคุมโรคติดต่อทั้งหมดจึงขึ้นกับกรมการแพทย์และอนามัย


กรมการแพทย์

                       ในปี พ.ศ. 2517 ได้มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการ โดยมีการแยกกรมการแพทย์และกรมอนามัยออกจากกัน แล้วรวมหน่วยงานควบคุมโรคติดต่อเข้าด้วยกันจัดตั้งเป็น กรมควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2517 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 91 ตอนที่ 210 วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2517 นับว่าเป็นรากฐานของกรมควบคุมโรค กรมควบคุมโรคติดต่อ แบ่งส่วนราชการเป็นกลุ่มงานที่ปรึกษา กองวิชาการเกี่ยวกับโรคติดต่อ 7 กอง กองและหน่วยงานสนับสนุนการบริหาร 4 หน่วยงาน โรงพยาบาลเฉพาะโรค 4 แห่ง หน่วยงานส่วนภูมิภาคได้แก่สำนักงานควบคุมโรคติดต่อเขต 13 เขต และสำนักงานควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง 5 สำนัก

                            
 ภาพตึกกรมควบคุมโรคติดต่อ

                  ในปี พ.ศ. 2545 จากพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5)  ได้ยุบกรมควบคุมโรคติดต่อแล้วเปลี่ยนเป็น กรมควบคุมโรค และเพิ่มบทบาทหน้าที่ด้านโรคไม่ติดต่อ เช่น การบริโภคแอลกอฮอล์ บุหรี่ โรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งงานด้านระบาดวิทยา ซึ่งเป็นการวางแผนการทำงานเพื่อช่วยในการตอบโต้กับโรคระบาดได้ทันสถานการณ์

 

อ้างอิง

อนุสรณ์กระทรวงสาธารณสุข ครบ 15 ปี พ.ศ. 2486 – 2500

45 ปี กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2485-2530

กระทรวงสาธารณสุข 2540 10 มีนาคม 2540 ครบรอบ 55 ปี การสถาปนากระทรวงสาธารณสุข

ประวัติกรมควบคุมโรค[ออนไลน์] (มปป.) แหล่งที่มา: https://ddc.moph.go.th/history.php[8 มิถุนายน 2565]

ที่มาภาพ

ภาพที่ 1 : หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย วันที่ ๑๙  พฤศจิกายนพ.ศ. ๒๕๐๕

ภาพที่ 2-3 : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ภาพที่ 4 : (๒๔๙๐) สุขศึกษา ชั้นประถมปีที่ ๓.

ภาพที่ 5 : Arnold Wright. (1994) Twentieth Century Impressions of Siam. Bangkok : White Lotus.

ภาพที่ 6 : กองสุขศึกษา หอจดหมายแหตุสาธารณสุขแห่งชาติ

ภาพที่ 7 : http://www.tsood.com/contents/3006302

ภาพที่ 8 : อนุสรณ์กระทรวงสาธารณสุข ครบ 15 ปี พ.ศ. 2486 – 2500

ภาพที่ 9-13 : กองสุขศึกษา หอจดหมายแหตุสาธารณสุขแห่งชาติ

ภาพที่ 14-15 : 45 ปี กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2485-2530 (หน้า 101-102).