กองนวัตกรรมและวิจัย
Responsive image

จุดเริ่มต้นของการสาธารณสุขไทย

จุดเริ่มต้นของการสาธารณสุขไทย

          ในปี พ.ศ. 2513 มีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติธรรมเนียมคลอง” เพื่อให้มีการรักษาความสะอาด เพราะคนในสมัยนั้นเชื่อว่าการใช้น้ำสกปรก เป็นมูลหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคภัยไข้ ซึ่งปัญหาสุขภาพหลักของการสาธารณสุขของไทยในสมัยก่อนที่ยังไม่ได้มีการจัดการปัญหาคือ เรื่องโรคระบาดที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิตไปครั้งละมาก ๆ โดยโรคระบาดในสมัยก่อนที่พบคือ ไข้ทรพิษ อหิวาตกโรค และกาฬโรคในปี พ.ศ. 2429 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้ทรงจัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นในกรุงเทพมหานคร เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ราษฎร และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง “คณะคอมมิตตีจัดการโรงพยาบาล” เพื่อจัดสร้างโรงพยาบาลและพระราชทานนามว่า “โรงพยาบาลศิริราช” ซึ่งมีการรักษาทั้งแบบตะวันตกและแบบแผนไทย

            ในปี พ.ศ. 2431 หลังมีการก่อสร้างโรงพยาบาลศิริราชและมีการเปิดให้บริการ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้ง “กรมการพยาบาล” ขึ้น เพื่อควบคุมดูแลกิจการโรงพยาบาลศิริราช จัดการศึกษาวิชาแพทย์ จัดการปลูกฝีเป็นทานแก่ประชาชน ต่อมากรมพยาบาลได้ย้ายมาสังกัดกระทรวงธรรมการ และได้จัดตั้งสถานทำหนองฝี จัดให้มีแพทย์ประจำเมือง และได้มีการจัดตั้งกองแพทย์เพื่อออกไปป้องกันโรคระบาดและปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษแก่ประชาชน ซึ่งภารกิจเหล่านี้ถือว่าเป็นการริเริ่มบุกเบิกงานสาธารณสุขในยุคแรกขึ้น ในปี พ.ศ. 2440 ได้มีการจัดตั้งกรมสุขาภิบาลขึ้น ตามพระราชกฤษฎีกาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อจัดการปัญหาสุขาภิบาลที่มีผลมาจากการขยายตัวของเมือง ทำให้ผู้คนอยู่กันอย่างแออัด ทิ้งขยะเกลื่อนไปทั่ว ขับถ่ายตามพื้นที่สาธารณะ สิ่งเหล่านี้เป็นบ่อเกิดโรคระบาดที่ส่งผลอย่างรุนแรง


  โรงพยาบาลวังหลัง โรงพยาบาลหลวงแห่งแรกในเมืองไทย

          ในปี พ.ศ. 2448 กรมพยาบาลซึ่งสังกัดอยู่ในกระทรวงธรรมการถูกยกเลิกไป งานต่าง ๆ ถูกโอนไปให้กรมศึกษาธิการและกระทรวงนครบาล จนกระทั้งในปี พ.ศ. 2455 ได้มีการจัดตั้งกรมพยาบาลขึ้นอีกครั้ง ภายหลังจากที่พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยศิริ) เดินทางไปประเทศฟิลิปปินส์ และพบเห็นการรักษาพยาบาลป้องกันโรค ตลอดจนวิธีปลูกฝี จึงได้ถวายรายงานขึ้นนำกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้รีบจัดวางระบบป้องกันโรคระบาดในขณะนั้น ได้แก่ โรคฝีดาษ อหิวาตกโรค กาฬโรค และไข้พิศม์ โดยแต่งตั้ง พระยาอมรฤทธิธำรง(ฉี บุนนาค) เป็นเจ้ากรมพยาบาลคนแรก ในปีพ.ศ. 2457 กระทรวงมหาดไทย ต้องการให้จังหวัดต่าง ๆ มีสถานที่สำหรับการป่วยไข้ และจำหน่ายยา เรียกสถานที่นี้ว่า "โอสถสภา" ในภายหลังงานสาธารณสุขได้เจริญก้าวหน้าไปมากแล้ว จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นสุขศาลา โดยถือว่าสุขศาลาเป็นศูนย์กลางการสาธารณสุข และในปี พ.ศ. 2459 ได้เปลี่ยนชื่อกรมพยาบาลเป็น “กรมประชาภิบาล” เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นต้องการปรับปรุงงานด้านสาธารณสุขให้กว้างขวางและก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้ในขณะนั้นงานด้านสาธารสุขกระจายกันอยู่ในหลายกรมและหลายกระทรวง

          จากการทำงานด้านสาธารณสุขที่กระจัดกระจาย ซ้ำซ้อน และขาดการติดต่อประสานงานกันระหว่างหน่วยงาน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำริให้รวมงานด้านสาธารณสุขที่ที่กระจายกันอยู่ในหลายหน่วยงานให้รวมกันอยู่เป็นหน่วยงานเดียวกัน และในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 ได้มีการปรับเปลี่ยนจากกรมประชาภิบาลเป็น “กรมสาธารณสุข” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ “พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นชัยนาทนเรนทร” เป็นอธิบดีกรมสาธารณสุขคนแรกและอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย แม้ในช่วงแรกจะมีปัญหาและอุปสรรคหลายอย่าง ทั้งในเรื่องการแบ่งงาน การโอนย้ายความรับผิดชอบ และอื่น ๆ แต่อย่างไรก็ดี ปัญหาต่าง ๆ ก็ได้รับการแก้ไข้และสามารถดำเนินกิจการสาธารณสุข โดยยึดหลัก “การป้องกันถูกกว่าการแก้” มีการส่งเสริมการป้องกันโรค ส่งเสริมเรื่องความรู้ด้านสุขอนามัย มีการปราบปรามโรคระบาดที่เป็นปัญหาหลักด้านสุขภาพ เช่น ไข้ทรพิษ อหิวาตกโรค และกาฬโรค มีการควบคุมโรคเรื้อน โรคคุดทะราด ตลอดจนทำความร่วมมือกันองค์กรต่างประเทศ เช่น มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ในการรณรงค์กำจัดโรคพยาธิปากขอ นอกจากนี้ยังมีการขยายงานด้านมารดาทารกสงเคราะห์ จัดการสุขศึกษาอย่างกว้างขวาง รวมทั้งยังมีการส่งคนไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้ นับว่าการเกิดขึ้นของกรมสาธารณสุขเป็นจุดเริ่มต้นของการสาธารณสุขยุคใหม่อย่างแท้จริง

 


กระทรวงสาธารณสุข วังเทวะเวสม์

         

 

 

อ้างอิง

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์. ปกิณกคดี 100 ปี การสาธารณสุขไทย. นนทบุรี : สุขศาลา สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.), 2561.

กระทรวงสาธารณสุข. ประวัติกระทรวงสาธารสุข.[ออนไลน์] (2565) แหล่งที่มา: https://www.moph.go.th/index.php/about/prosperous[วันที่ 28 เมษายน 2565].

ประวัติศาสตร์การก่อตั้งกระทรวงสาธารณสุขก่อนจะเป็น “กระทรวงสาธารณสุข”[ออนไลน์](2565) แหล่งที่มา: https://www.hfocus.org/content/2014/03/6574[27 เมษายน 2565].

ที่มาภาพ

หอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ