กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ติดตามสถานการณ์โรคหัดทั้งในประเทศ และต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เผยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกพบผู้ป่วยโรคหัดทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว พร้อมรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดให้ครบตามกำหนด หากมีอาการไข้สูง 3 - 4 วัน มีผื่นนูนแดงขึ้นที่ใบหน้า แล้วแพร่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาทันที
วันนี้ (11 กันยายน 2562) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวว่าพบผู้ป่วยโรคหัดเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ นั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญในการดำเนินงานตามโครงการเร่งรัดการกำจัดโรคหัดของประเทศไทยตามพันธสัญญานานชาติ ปี 2562-2565 จึงมอบหมายให้ กรมควบคุมโรค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการดำเนินงานอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว
โดยจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม มีผู้ป่วยโรคหัดเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยในปีนี้พบผู้ป่วยโรคหัด 364,808 รายทั่วโลก ส่วนประเทศที่มีผู้ป่วยโรคหัดมากที่สุดในปีนี้ 3 อันดับแรก คือ ประเทศมาดากัสการ์ 127,464 ราย ประเทศยูเครน 54,246 ราย และ ประเทศฟิลิปปินส์ 36,253 ราย สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 สิงหาคม 2562 พบผู้ป่วยโรคหัด 4,435 ราย เสียชีวิต 14 ราย โดยจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ นราธิวาส ปัตตานี เพชรบุรี เชียงใหม่ และตาก ตามลำดับ
โรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัส Measles ซึ่งเป็นไวรัสที่พบได้บ่อยในจมูกและลำคอผู้ป่วย อาการที่พบบ่อยของ โรคหัด คือ ไข้ออกผื่น โดยมักมีอาการไข้สูงประมาณ 3 - 4 วัน แล้วเริ่มมีผื่นนูนแดงขึ้น โดยผื่นเริ่มขึ้นจากหลังหูแล้วลามไปยังใบหน้าบริเวณชิดขอบผม แล้วแพร่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา เมื่อผื่นแพร่กระจายทั่วตัว ประมาณ 2 - 3 วัน ไข้จะค่อยๆ ลดลง และผื่นก็จะค่อย ๆ จางหายไป ผิวหนังบริเวณที่เป็นผื่นมากอาจจะลอกเป็นขุย หรือเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้นได้ ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ คือ คออักเสบ หลอดลมอักเสบจนถึงปอดบวม หูชั้นกลางอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ ท้องเสีย และสมองอักเสบซึ่งเป็นภาวะที่รุนแรงที่สุด หากป่วยด้วยโรคหัดหรือสงสัยว่าเป็นโรคหัดควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการและรับการรักษา
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า โรคหัดสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน และวัคซีนป้องกันโรคหัด มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้มากกว่าร้อยละ 95 ซึ่งตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข จะฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน จำนวน 2 เข็ม เข็มแรกเมื่อเด็ก อายุ 9 เดือน และเข็มที่สองเมื่ออายุ 2 ปีครึ่ง หากพบว่าบุตรหลานยังรับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ ผู้ปกครองสามารถพาไปรับวัคซีนได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐทุกแห่ง อย่างไรก็ตามแม้ว่าโรคหัดจะมีอัตราการป่วยตายต่ำในเด็กทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรง แต่ยังคงมีความเสี่ยงในเด็กเล็ก และเด็กที่มีภาวะขาดสารอาหารหรือเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
**************************************************
ข้อมูลจาก : กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
โทรศัพท์ 0-2590-3859 / วันที่ 11 กันยายน 2562