กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน
Responsive image

กระทรวงสาธารณสุข ชูนโยบาย “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เชิญชวน อสม. และประชาชนร่วมเป็นจิตอาสาค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนพร้อมทั้งดูแลสุขภาพกลุ่มด้อยโอกาสและอสม. เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี ของการสถาปนาสถาบันราชประชาสมาสัย

 

          วันนี้ (16 มกราคม 2563) ที่สถาบันราชประชาสมาสัย อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ นายแพทย์ประพนธ์  ตั้งศรีเกียรติกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยศาตราจารย์นายแพทย์ธีระ รามสูต ประธานมูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์    และนายแพทย์อาจินต์ ชลพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชประชาสมาสัย  ร่วมกันจัดงานวันราชประชาสมาสัย ในหัวข้อ “60 ราชประชาสมาสัย ก้าวต่อไปไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

            นายแพทย์ประพนธ์ กล่าวว่า เนื่องในวันครบรอบการสถาปนาสถาบันราชประชาสมาสัย (16 มกราคม 2563) กระทรวงสาธารณสุข  โดยสถาบันราชประชาสมาสัย กรมควบคุมโรค จัดงานวันราชประชาประชาสมาสัย เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้ทรงก่อตั้งสถาบันราชประชาสมาสัย เพื่อผลิตบุคลากร และค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับโรคเรื้อน พร้อมทั้งจัดให้มีสัปดาห์รณรงค์ค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ ในวันที่ 13-19 มกราคม 2563 มีกิจกรรมเชิญชวน อสม.เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมไลน์แอด เพื่อรับความรู้เกี่ยวกับลักษณะอาการที่น่าสงสัยเป็นโรคเรื้อนและสามารถแนะนำไปตรวจรักษา

          นายแพทย์ธีระ กล่าวว่า มูลนิธิ ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่ดำเนินงานร่วมกับสถาบันราชประชาสมาสัย และมูลนิธิได้สนับสนุนนโยบายไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ด้วยการให้ทุนสนับสนุนค่าตอบการค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ รายละ 3,000 บาท โดยจ่ายให้กับผู้ป่วยทั้งหมดหากเกิดความตระหนักและมาแสดงตัวรับการรักษาด้วยตนเอง และหากมีผู้นำพามารับการรักษา ผู้นำพาจะได้รับ 1,000 บาท และผู้ป่วยได้รับ 2,000 บาท พร้อมทั้งให้ทุนการศึกษาแก่ผู้ป่วยโรคเรื้อนและบุตร และให้ทุนการศึกษาแก่เด็กกำพร้าที่พ่อแม่เสียชีวิตจากโรคเอดส์

          ด้านนายแพทย์อาจินต์ กล่าวว่า สถาบันราชประชาสมาสัย มีภารกิจ 2 เรื่อง คือเรื่องโรคเรื้อนและโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ในปีนี้เป็นปีครบรอบการก่อตั้งสถาบัน 60 ปี จึงจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อสนองนโยบายรัฐบาล “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” มีโครงการเร่งรัดค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดความพิการ และตรวจสุขภาพผู้ประกอบอาชีพเก็บขยะ ผู้พิการ และอสม. ในจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลสุขภาพของกลุ่มคนดังกล่าว และปัจจุบันประเทศไทยสามารถกำจัดโรคเรื้อนจนไม่เป็นปัญหาสาธารณสุข ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ทุกภาคส่วน  สถานการณ์ของโรคเรื้อนในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง  โดยในปี 2561 พบผู้ป่วยใหม่ 125 ราย การกระจายของโรคพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 48.8 รองลงมาได้แก่ภาคใต้ ร้อยละ 19.2 แต่ปัญหาที่ยังคงมีอยู่คือสัดส่วนผู้ป่วยใหม่ที่มีความพิการยังไม่มีแนวโน้มลดลง โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 10-17 สะท้อนถึงการที่ผู้ป่วยมารับการรักษาล่าช้า โดยมีช่วงเวลาตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มปรากฏอาการของโรคจนถึงเวลาเข้ารับการตรวจรักษาเป็นเวลา 3 ปี 8 เดือน สาเหตุมาจากประชาชนขาดองค์ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคเรื้อน

          นายแพทย์อาจินต์ กล่าวเพิ่มเติม หากประชาชนสงสัยว่าตนเองเป็นโรคเรื้อน หรือสังเกตเห็นผิวหนังเป็นวงด่าง ชา ผื่น หรือตุ่มแดง ไม่คัน ใช้ยากิน ยาทานานเกิน 3 เดือนแล้วยังไม่หาย ให้รีบมาพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย ยิ่งเริ่มการรักษาได้เร็วเท่าไหร่ ความเสี่ยง ในเรื่องของความพิการก็ยิ่งลดน้อยลง เป็นการป้องกันการเกิดความด้อยโอกาสในการประกอบอาชีพและการเข้าสังคมของผู้ป่วยและเป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังด้วย และขอความร่วมมือ อสม. จิตอาสาเพื่อร่วมในการค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ ที่ตกค้างในชุมชนให้รีบมารับการรักษาก่อนเกิดความพิการ เพื่อการกำจัดโรคเรื้อนอย่างยั่งยืน ต่อไป

ข้อมูลจาก : สถาบันราชประชาสมาสัย กรมควบคุมโรค

วันที่ 16 มกราคม 2563


ข่าวสารอื่นๆ