กรมควบคุมโรค เดินหน้าค้นหา คัดกรองวัณโรคในประชาชนกลุ่มเสี่ยง
กรมควบคุมโรคเปิดกิจกรรมตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาวัณโรคในกลุ่มเสี่ยง บริการเอกซเรย์ปอดโดยรถเอกซเรย์ดิจิตอลเคลื่อนที่ บริการตรวจเสมหะ ด้วยเทคนิคทางโมเลกุล ระดับอนูชีววิทยา เพื่อค้นหาผู้ป่วยวัณโรค นำเข้า สู่กระบวนการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ลดการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคไปสู่คนอื่น ตามยุทธศาสตร์ยุติวัณโรค
วันนี้( 30 ตุลาคม 2565) ที่วัดนิโครธาราม ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แพทย์หญิงผลิน กมลวัทน์ ผู้อำนวยการกองวัณโรค และผู้แทนจากภาคีเครือข่ายยุติวัณโรค ร่วมกันเปิดกิจกรรมตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาวัณโรคในกลุ่มเสี่ยง โดยในงานมีการจัดให้บริการเอกซเรย์ปอดโดยรถเอกซเรย์ดิจิตอลเคลื่อนที่ บริการตรวจเสมหะ ด้วยเทคนิคทางโมเลกุล ระดับอนูชีววิทยา และอื่นๆให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่างๆ และประชาชนผู้สนใจ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัณโรคยังคงเป็นโรคติดต่อที่เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ดังนั้นเพื่อเร่งรัดการค้นหาผู้ป่วยวัณโรค กรมควบคุมโรค ได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา มุ่งคัดกรอง เพื่อค้นหาผู้ป่วยวัณโรค เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรักษาตามมาตรฐานแผนงานวัณโรค รวมถึงส่งเสริมการให้ความรู้ ความตระหนักถึงการควบคุมป้องกันวัณโรค และสร้างเสริมสุขภาพที่ยั่งยืนของตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคมให้ปลอดภัยจากวัณโรค โดยกรมควบคุมโรค เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานยุทธศาสตร์ สู่เป้าหมายยุติวัณโรคของประเทศไทย ให้ได้ตามเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ยุติวัณโรค (End TB Strategy) ในระดับนานาชาติ และยึดหลัก 5 ยุทธศาสตร์หลักที่สำคัญ ได้แก่ 1) เร่งรัดการค้นหาและวินิจฉัยผู้ติดเชื้อวัณโรคและผู้ป่วยวัณโรค 2) ลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยวัณโรค 3) พัฒนาศักยภาพของบุคลากร 4) สร้างกลไกการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์อย่างยั่งยืน 5) ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรรมด้านวัณโรค
นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า การเร่งรัดค้นหาผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ ถือเป็นแนวทางที่สำคัญในการลดความล่าช้าของการตรวจวินิจฉัย เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที สามารถลดการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคไปสู่คนอื่นๆได้ กรมควบคุมโรคจึงให้ความสำคัญเรื่องการเร่งรัดค้นหา การให้การรักษาตามมาตรฐาน รวมถึงการป้องกันวัณโรคในเขตเมืองใหญ่ มีการบูรณาการพัฒนารูปแบบการค้นหาและดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคร่วมกับพื้นที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรค, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ตลอดจน โรงพยาบาลในเขตพื้นที่เมืองต่างๆ ให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยทำการค้นหาใน 7 กลุ่มเสี่ยงหลักเป็นอันดับแรกๆ ซึ่งประกอบด้วย 1. ผู้สัมผัสร่วมบ้านหรือผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรคปอด 2. ผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้อาศัยในสถานคุ้มครอง และพัฒนาคนพิการหรือสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งหรือเคยต้องขังหรือควบคุมตัว 3. ผู้ติดเชื้อเอชไอวี 4. ผู้ป่วยโรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง อาทิ ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง หรือได้รับ ยากดภูมิคุ้มกัน 5. ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี ที่สูบบุหรี่ หรือมีโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) หรือโรคเบาหวานร่วมด้วย 6. ผู้ใช้สารเสพติด ติดสุราเรื้อรัง และ 7.บุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล ซึ่งกองวัณโรค กรมควบคุมโรค ลงพื้นที่คัดกรอง เพื่อค้นหาวัณโรคในครั้งนี้ ได้ร่วมกับ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา, และศูนย์วัณโรค เขต 12 จังหวัดยะลา, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง และโรงพยาบาลพัทลุง โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
แพทย์หญิงผลิน กมลวัทน์ ผู้อำนวยการกองวัณโรค กล่าวเสริมว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยกองวัณโรค จะยังมุ่งมั่น อย่างตั้งใจดำเนินงาน ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกระดับ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อการบรรลุเป้าหมายหลักที่สำคัญ ส่งผลให้อุบัติการณ์วัณโรคลดลง พ้นจากกลุ่มประเทศที่มีภาระปัญหาด้านวัณโรคสูงในทุกๆด้าน พร้อมบรรลุเป้าประสงค์ภายใต้เป้าหมายที่ 3 ในการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ด้านวัณโรค อันจะนำไปสู่การยุติวัณโรค (End TB) ภายในปี 2578 และให้ “เมืองไทยปลอดวัณโรค” ตลอดไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองวัณโรค กรมควบคุมโรค โทร 02 211 2224
********************************************
ข้อมูลจาก : กองวัณโรค/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 30 ตุลาคม 2565