สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี
Responsive image

15 มิถุนายน วันไข้เลือดออกอาเซียน : Dengue heroes towards zero death “รวมพลังกำจัดยุงลาย ลดการป่วยตายด้วยไข้เลือดออก” พร้อมแนะยึดมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค เร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

15 มิถุนายน วันไข้เลือดออกอาเซียน : Dengue heroes towards zero death “รวมพลังกำจัดยุงลาย ลดการป่วยตายด้วยไข้เลือดออก” พร้อมแนะยึดมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค เร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

          โรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อ ที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี โดยมียุงลายเป็นแมลงนำโรค ซึ่งพบการระบาดได้ตลอดทั้งปี และจะพบมากในช่วงฤดูฝนเป็นช่วงที่พบการระบาดของโรคไข้เลือดออกสูง เนื่องจากมีภาชนะขังน้ำในชุมชนเพิ่มมากขึ้นตามปริมาณฝนที่ตกชุก ซึ่งน้ำที่ขังตามภาชนะต่างๆ ในชุมชนทั้งที่ใช้งาน และภาชนะที่ไม่ใช้ ล้วนแต่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย หากประชาชนไม่ดูแลจัดการภาชนะขังน้ำในครัวเรือน และในชุมชน ก็จะยิ่งทำให้การระบาดของโรคไข้เลือดออกแพร่ไปได้อย่างรวดเร็ว

             สถานการณ์ไข้เลือดออกในปีนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง วันที่ 8 มิถุนายน 2567 ประเทศไทย มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกรวม 32,093 รายพบรายงานผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว 36 ราย สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 6 หรือภาคตะวันออก พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จำนวน 4,285 ราย พบมากในช่วงอายุ 15-24 ปี และพบผู้ป่วยเสียชีวิต 3 ราย เป็นผู้ใหญ่วัยทำงาน 2 ราย เด็ก 1 ราย ปัจจัยเสี่ยง มีโรคประจำตัว 2 ราย และน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ รายงานจำนวนผู้ป่วยมากกว่าปี พ.ศ. 2566 ณ ช่วงเวลาเดียวกันประมาณ 2 เท่า พบจังหวัดในภาคตะวันออกมีสถานการณ์ป่วยสูง ติด 1 ใน 10 ของประเทศ                             

              อาการของโรคไข้เลือดออก มีตั้งแต่อาการไม่รุนแรงไปจนถึงเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ได้แก่ อาการไข้สูงเฉียบพลัน คือ อุณภูมิร่างกายมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส และสูงลอยเกิน 2 วัน ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน อาจมีผื่น หน้าแดง ปวดท้อง หรือท้องเสีย มีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด แต่มักจะไม่มีน้ำมูกและไม่ไอ ใช้เวลา 2 - 7 วัน การจำแนกอาการรุนแรงของผู้ป่วย ได้แก่ ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่มีอาการ ไม่รุนแรง คือ มีไข้ ปวดเมื่อยเล็กน้อย ส่วนมากผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงสามารถหายเองได้ ผู้ป่วยที่แสดงอาการเป็นสัญญาณอันตราย คือ ปวดท้อง อาเจียน มากกว่า 3 ครั้งต่อวัน หอบเหนื่อย มีเลือดออกบริเวณเยื่อเมือกต่างๆ เช่น เลือดกำเดา เลือดออกตามไรฟัน อ่อนเพลีย ปัสสาวะลดลง ซึมลง

            สำหรับการดูแลตนเองของผู้ป่วยในเบื้องต้น คือสามารถรับประทานยาแก้ปวด ลดไข้ ชนิดพาราเซตามอล และเช็ดตัวเพื่อลดไข้ และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน อาจมีผื่น หน้าแดง ปวดท้อง หรือท้องเสีย รับประทานอาหารได้น้อยลง ให้จิบผงละลายเกลือแร่ หรือ ORS อย่าซื้อยารับประทานเอง โดยเฉพาะยาแก้ปวด ลดไข้อย่างแรง เช่น ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน  ซึ่งระคายเคืองกระเพาะอาหาร เสี่ยงเลือดออกในกระเพาะอาหาร อันตรายถึงเสียชีวิต *** เนื่องจากโรคไข้เลือดออกในปัจจุบันยังไม่มียารักษาเฉพาะ จึงเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ทั้งนี้หากมีไข้สูงมากกว่า 2 วัน ร่วมกับอาการอื่นดังที่กล่าว ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว หากเข้ารับการรักษาช้า ผู้ป่วยอาจจะมีภาวะช็อกทำให้การดูแลรักษายากยิ่งขึ้น กลุ่มเสี่ยงสำคัญที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ ผู้ที่มีน้ำหนักมาก ผู้ที่มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต หากป่วยจะทำให้การรักษาซับซ้อนมากขึ้น เพราะต้องรักษาอาการที่เกิดจากโรคไข้เลือดออกและโรคประจำตัวด้วย ไข้เลือดออกเป็นแล้วมีโอกาสเป็นซ้ำอีกได้ เนื่องจากไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ที่  1, 2, 3 และ 4 ซึ่งในแต่ละปีจะมีการระบาดของสายพันธุ์ต่างๆ สลับกันไป หากผู้ป่วยติดเชื้อไข้เลือดออกสายพันธุ์ใดไปแล้ว ร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้นตลอดชีวิต  และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันข้ามไปยังสายพันธุ์อื่นได้ระยะสั้นๆ ก่อนภูมิคุ้มกันในสายพันธุ์อื่นจะหายไป ดังนั้น ผู้ที่เคยเป็นไข้เลือดออกแล้ว ยังสามารถกลับมาเป็นได้อีกในสายพันธุ์ที่ต่างจากที่เคยเป็น แต่ทว่า การติดเชื้อครั้งที่ 2 มักจะมีอาการรุนแรงกว่า
การป่วยครั้งแรก

          เนื่องในวันที่ 15 มิถุนายน ตรงกับ“วันไข้เลือดออกอาเซียน” (ASEAN Dengue Day) Dengue heroes towards zero death “รวมพลังกำจัดยุงลาย ลดการป่วยตายด้วยไข้เลือดออก” สคร.6 ชลบุรี แนะ วิธีป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ดีที่สุด คือ ระวังอย่าให้มียุง เริ่มต้นที่บ้านของตนเองตามหลัก “3 เก็บ 3 โรค” ได้แก่ เก็บบ้าน ให้สะอาด ปลอดโปร่งไม่เป็นแหล่งเกาะพักของยุงลาย เก็บน้ำ คือ ดูแลภาชนะน้ำใช้ และภาขนะขังน้ำไม่ให้ยุงลายวางไข่  และเก็บขยะ ไม่ให้เป็นแหล่งยุงลาย ทำต่อเนื่องเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพราะยุงลายเกิดขึ้นใหม่ในทุกๆ 7 วันเช่นกัน ระวังอย่าให้ยุงกัด โดยเฉพาะยุงลายชอบกัดเวลากลางวัน และเป็นยุงที่มักอาศัยอยู่ในบ้าน โดยเฉพาะผู้ป่วยต้องนอนในมุ้งหรือทายากันยุง ทั้งขณะอยู่พักฟื้นที่บ้านหรือรักษาตัวที่โรงพยาบาล ป้องกันไม่ให้ยุงกัดแล้วไปแพร่เชื้อให้คนอื่น สำหรับร้านขายยา และคลินิก ขอความร่วมมือห้ามขายและจ่ายยาที่ใช้กันได้ทั่วไปในการรักษาอาการปวด ลดการอักเสบ และลดไข้ ให้กับผู้ป่วยสงสัยไข้เลือดออก ควรแนะนำให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที

อ้างอิงข้อมูล : กลุ่มโรคติดต่อ สคร.6 ชลบุรี


ข่าวสารอื่นๆ