สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น
Responsive image

สคร. 12 สงขลา เตือนหน้าฝน ระวังโรคติดเชื้อไวรัสซิกา

สคร. 12 สงขลา เตือนหน้าฝน ระวังโรคติดเชื้อไวรัสซิกา

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ห่วงหน้าฝน มีการระบาดของโรคที่เกิดจากยุงลาย เช่น โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา พร้อมแนะประชาชนในพื้นที่ทำความเข้าใจโรคติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika virus disease)

ฤดูฝนเป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคที่เกิดจากยุงลายสูงที่สุด เนื่องจากสภาพพื้นที่ที่มีน้ำขังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย ทำให้ยุงลายมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงอื่น ๆ โรคติดเชื้อไวรัสซิกาเป็นโรคหนึ่งที่ควรให้ความสนใจ แม้ส่วนใหญ่ผู้ป่วยทั่วไปจะมีอาการไม่รุนแรง แต่จะส่งผลกระทบรุนแรงกับเด็กที่อยู่ในครรภ์ ถือเป็นเรื่องที่ประชาคนควรให้ความสำคัญ  

สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2563 (ข้อมูลจากระบบรายงานการเฝ้าระวังโรค 506 กองระบาดวิทยา) ประเทศไทย มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้ซิกา สะสมรวม 104 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 0.16 ต่อประชากรแสนคน โดยพบผู้ป่วยกระจายอยู่ในพื้นที่ 13 จังหวัด ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต

นายแพทย์เฉลิมพล  โอสถพรมมา  ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ในพื้นที่ 7 จังหวัด ภาคใต้ตอนล่างว่า มีรายงานผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ในพื้นที่จังหวัดสงขลาเพียงจังหวัดเดียว จำนวน 17 ราย ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต เป็นการพบผู้ป่วยจาก 2 พื้นที่อำเภอ โดยช่วงต้นปี 2563 พบผู้ป่วยในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จำนวน 3 ราย และพบการระบาดในพื้นที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา โดยเริ่มมีรายงานผู้ป่วยรายแรกในช่วงเดือนมิถุนายน จนถึงปัจจุบัน (11 ส.ค. 2563) จำนวน 14 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ที่กำลังเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสซิกาที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ อีกจำนวน 3 ราย    

โรคติดเชื้อไวรัสซิกา เกิดจากการการติดเชื้อไวรัสซิกา โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค อยู่ในตระกูลเดียวกับไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเดงกี ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไข้ ปวดศีรษะ มีผื่นแดงที่บริเวณลำตัว แขนขา เยื่อบุตาอักเสบ ตาแดง ปวดข้อ อ่อนเพลีย ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวให้รีบมาพบแพทย์ สำหรับผู้ที่เข้าข่ายเฝ้าระวังอาจได้รับการตรวจโดยการเจาะเลือด เก็บปัสสาวะ ในกรณีที่ป่วยมายังไม่ถึง 7 วัน หากป่วยนานกว่า 7 วัน จะตรวจเฉพาะปัสสาวะ เนื่องจากเชื้อไวรัสซิกาสามารถอยู่ในเลือดได้แค่ 7 วัน ตั้งแต่วันเริ่มป่วย ต่อจากนั้นเชื้อจะตรวจพบในปัสสาวะได้ต่อไปอีก 1 เดือน ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันเฉพาะ การรักษาจะรักษาตามอาการเพื่อบรรเทาการเจ็บป่วย   

สำหรับ การติดต่อของโรคนี้เกิดจากการถูกยุงลายที่มีเชื้อกัด คล้ายกับโรคไข้เลือดออก ซึ่งไม่สามารถติดต่อทางลมหายใจหรือจากการสัมผัสทั่วไป การแพร่เชื้อที่สำคัญคือผ่านทางยุงลายที่มีเชื้อกัด รองลงมาคือทางเพศสัมพันธ์ จากแม่สู่ลูกผ่านสายสะดือ ดังนั้นการป้องกันที่สำคัญที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด ด้วยการนอนในมุ้ง และทายากันยุง กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย กำจัดลูกน้ำ และยุงลายตัวแก่ สำหรับหญิงตั้งครรภ์ต้องระมัดระวังไม่ให้ถูกยุงกัด ทายากันยุง และฝากครรภ์พบแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามพัฒนาการทารกในครรภ์ เนื่องจากมีรายงานในต่างประเทศว่าการติดเชื้อไวรัสซิกาอาจทำให้ทารกแรกเกิดมีความผิดปกติ เกิดภาวะศีรษะเล็กได้ โดยเฉพาะการติดเชื้อใน 3-6 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสซิกาสามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค  1422

 

ข่าวโดย: กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ สคร.12 สงขลา

 E-mail: [email protected] (  สิงหาคม 2563)

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ