การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่งของเด็กไทย ซึ่งสูงกว่าทุกสาเหตุทั้งโรคติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2555 - 2564) โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำไปแล้วถึง 7,374 คน เฉลี่ยปีละ 737 คน หรือวันละ 2 คน โดยเฉพาะในช่วงเดือน มีนาคม – พฤษภาคม เป็นเดือนที่เด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด เพราะตรงกับช่วงปิดเทอมและช่วงฤดูร้อน เฉลี่ยเพียง 3 เดือน มีเด็กตกน้ำ จมน้ำ เสียชีวิตถึง 241 คน หรือวันละเกือบ 3 คน โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563 - 2564) มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ทำให้เด็กต้องเรียนออนไลน์และอยู่บ้านนานขึ้น ซึ่งเปรียบเสมือนการปิดภาคการศึกษาระยะยาว ส่งผลให้การเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กในปี 2564 เพิ่มสูงมากที่สุดในรอบ 10 ปี
นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยสถานการณ์จากข้อมูลที่สอดคล้องกับภาพรวมทั้งประเทศ โดยเฉพาะช่วงที่อากาศร้อนในเดือนเมษายน ประกอบกับเป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ ส่งผลให้เด็กๆชักชวนกันไปเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติในชุมชน จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตจากการจมน้ำในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี สำหรับสถานการณ์จมน้ำเสียชีวิตในเขตสุขภาพที่ 7 ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และจังหวัดกาฬสินธุ์ พบการเสียชีวิตจากการจมน้ำในช่วง 5 ปี ย้อนหลัง (ปี 2559 - 2563) พบว่ามีเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำที่จังหวัดร้อยเอ็ด 64 คน ขอนแก่น 102 คน มหาสารคาม 46 คน และจังหวัดกาฬสินธุ์ 60 คน ทั้งหมดนี้ เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง และส่วนมากเสียชีวิตภายนอกบ้าน จากแหล่งน้ำทางการเกษตร หนองน้ำรอบชุมชน ซึ่งแหล่งน้ำส่วนใหญ่ยังไม่มีการจัดการให้เกิดความปลอดภัย เช่น การสร้างรั้ว การติดป้ายเตือน การติดตั้งอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำ รวมทั้งส่วนใหญ่ผู้ประสบเหตุขาดทักษะเอาชีวิตรอดเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีการช่วยเหลือที่ไม่ถูกต้อง
จึงขอเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมกันป้องกันการเสียชีวิตจากการจมน้ำ และขอความร่วมมือเครือข่ายสื่อมวลชนให้ช่วยกันรณรงค์เผยแพร่ข้อมูลในวงกว้าง ได้แก่ สถานีวิทยุ หอกระจายข่าว เสียงตามสายในชุมชน เพื่อให้ถึงกลุ่มเป้าหมายในระดับชุมชน โดยมุ่งหวังให้ครอบครัว (บ้าน) เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความปลอดภัยทางน้ำ ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง ได้แก่ การจัดการแหล่งน้ำเสี่ยงเช่นการสร้างรั้ว ติดป้ายคำเตือน จัดให้มีอุปกรณ์ช่วยเหลือคนตกน้ำที่หาได้ง่าย อาทิ ไม้ไผ่ เชือก แกลลอนพลาสติกมีฝาปิด และในยามฉุกเฉินให้ทุกคนยึดหลัก “ตะโกน โยน ยื่น” (ตะโกน: ให้ผู้ใหญ่ช่วย, โยน: วัสดุที่ลอยน้ำได้, ยื่น: ไม้ กิ่งไม้ ให้คนตกน้ำจับ) ซึ่งควรต้องเน้นย้ำและสอนเด็กเสมอ เครือข่ายด้านสาธารณสุขและด้านการศึกษาควรร่วมมือกัน สนับสนุนให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ได้ฝึกทักษะการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) สนับสนุนให้เด็กมีโอกาสเรียนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด ซึ่งจะครอบคลุมเนื้อหาความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำ ทักษะการเอาชีวิตรอดในน้ำ และทักษะการช่วยเหลือคนตกน้ำ จมน้ำ และสามารถเรียนรู้จากสื่อ AR ป้องกันการจมน้ำเทคโนโลยีโลกเสมือน (Augmented Reality: AR) โดยสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่เวปไซต์ กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค และฝากเตือนถึงผู้ปกครองว่าการป้องกันไม่ให้เด็กจมน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด“อย่าปล่อยเด็กไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง เด็กเล็กต้องอยู่ในระยะที่มือเอื้อมถึงและคว้าถึง” ผู้ปกครองร่วมสร้างพื้นที่เล่นปลอดภัย (playpen) แก่เด็ก กรณีในครัวเรือนที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ขอให้ใช้คอกกั้นทุกราย การทำกิจกรรมทางน้ำหรือการเดินทางทางน้ำ ให้ปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยทางน้ำ และขอให้ใส่เสื้อชูชีพหรือใช้อุปกรณ์ลอยน้ำทุกครั้ง
สำหรับวิธีช่วยเหลือเด็กจมน้ำที่ถูกวิธี มีดังนี้ เมื่อช่วยเด็กขึ้นมาจากน้ำและเด็กไม่หายใจ ควรตรวจดูการอุดกั้นของช่องทางเดินหายใจในปากในจมูกก่อน หากไม่มีอะไรอุดกั้นให้รีบเป่าปากในทันทีเพื่อช่วยหายใจ เพราะเด็กที่จมน้ำหมดสติ เนื่องจากขาดอากาศหายใจ และหากไม่แน่ใจว่ามีชีพจรให้นวดหัวใจ กดหน้าอกให้ยุบลงไปประมาณ 1 ใน 3 ของความหนาของหน้าอก ความเร็วอย่างน้อย 100 ครั้ง/นาที สลับกับการเป่าปากในอัตราส่วน 30:2 หรือจำง่ายๆ คือ เป่าปาก 2 ครั้ง ปั๊มหัวใจ 30 ครั้ง ทำอย่างต่อเนื่องจนกว่าเด็กจะรู้สึกตัวหรือจนกว่าจะมีทีมแพทย์มาช่วยเหลือ ทั้งนี้หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถโทรสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
**************************************
ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ / กลุ่มโรคไม่ติดต่อ สคร.7 ขอนแก่น
เผยแพร่ : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น
วันที่ 5 เมษายน 2565