ข้อมูลจากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในปี 2564 ที่ผ่านมา พบผู้เสียชีวิต 3 รายใน 3 จังหวัด (จังหวัดสุรินทร์ 2 ราย และจังหวัดบุรีรัมย์ 1 ราย) และสำหรับในปี 2565 นี้ พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 1 ราย ที่จังหวัดชลบุรี โดยมีรายงานผู้เสียชีวิตรายดังกล่าว มีประวัติสัมผัสกับสุนัขของเพื่อนบ้านที่นำมาฝากเลี้ยงข่วน
นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น ได้กล่าวถึง การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของกรมควบคุมโรคว่าในช่วงนี้อาจมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าได้ เนื่องจาก สภาพอากาศร้อนอาจทำให้สัตว์หงุดหงิดและทำร้ายคนได้ จึงขอเตือนประชาชนว่า โรคพิษสุนัขบ้า เมื่อติดเชื้อและ แสดงอาการแล้ว รักษาไม่หาย จะเสียชีวิตทุกราย ซึ่งสาเหตุของการติดเชื้อพิษสุนัขบ้าส่วนใหญ่ เกิดจากการถูกสุนัขหรือแมวกัด-ข่วน แล้วไม่ได้รักษา หรือเข้ารับฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างถูกต้อง ดังนั้นหากถูกสุนัขหรือแมวที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน เลีย น้ำลายกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือทางผิวหนังที่มีบาดแผล ควรรีบปฐมพยาบาล โดยล้างแผลทันทีด้วยน้ำและฟอกด้วยสบู่เบาๆหลายๆครั้ง ไม่บีบเค้นบาดแผล เช็ดแผลให้แห้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อโพวีโดนไอโอดีน หรือทิงเจอร์ไอโอดีน จากนั้นควรไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครบ และควรมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ซึ่งในปัจจุบันวิธีป้องกันคือ การป้องกันไม่ให้ถูกสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลียมือ ส่วนการป้องกันโรคมี 3 ขั้นตอน ดังนี้ 1.ก่อนถูกกัด ใช้หลักการคาถา 5 ย. ป้องกันการถูกกัด ได้แก่“อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ อย่ายุ่ง” คือ อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห อย่าเหยียบสุนัขหรือทำให้สุนัขตกใจ อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบชามอาหารขณะสุนัขกำลังกิน และอย่ายุ่งกับสุนัขนอกบ้านหรือที่ไม่ทราบประวัติ 2.กรณีถูกกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน และรีบไปพบแพทย์โดยทันที เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอย่างเหมาะสม รวมถึงกักขังสัตว์ที่กัดสังเกตอาการอย่างน้อย 10 วัน หากสัตว์ตัวนั้นมีอาการปกติแสดงว่าอาจไม่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า แต่หากสุนัขหรือแมวเสียชีวิต ให้รีบแจ้งผู้นำชุมชนที่อยู่ใกล้ที่สุด และแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อส่งหัวสัตว์ที่สงสัยตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าทางห้องปฏิบัติการ และ 3.หลังจากถูกกัด ควรรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องครบชุดตามเวลาที่แพทย์นัด
สำหรับอาการของโรคพิษสุนัขบ้า หลังจากรับเชื้อและเริ่มแสดงอาการ ผู้ป่วยจะมีอาการเบื่ออาหาร เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีไข้ อ่อนเพลีย ชา เจ็บเสียว หรือปวดบริเวณรอยแผลที่ถูกกัด คันอย่างรุนแรงที่แผล ต่อมาจะมีอาการกระสับกระส่าย ไม่ชอบเสียงดัง เพ้อเจ้อ กลัวแสง กลัวลม กลัวน้ำ กลืนลำบาก โดยเฉพาะของเหลว และกล้ามเนื้อขากระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรืออาจชัก เกร็ง เป็นอัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด ข้อปฏิบัติสำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยง ควรนำสัตว์เลี้ยงของตนเองไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เมื่อสัตว์เลี้ยงมีอายุ 2-3 เดือนขึ้นไป 2 เข็ม และฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปีๆละ 1 เข็ม และหากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้า คือมีอาการหางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือผู้นำชุมชนทันที นอกจากนี้ การขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง ไม่ปล่อยทิ้งให้เป็นสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ ก็เป็นอีกวิธีที่ประชาชนสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ และการมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความรุนแรงของโรคพิษสุนัขบ้า รู้จักวิธีป้องกันไม่ให้สุนัขกัดหรือทำร้าย ด้วย คาถา 5 ย. จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งนี้หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค 1422
*******************************************************
ข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค
วันที่ 22 เมษายน 2565
เผยแพร่ : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น