สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น
Responsive image

หมอเตือนภัยจากการจมน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่น้ำหลาก ควรงดลงน้ำหาปลา เด็ก และคนชราให้ระวัง!!

หมอเตือนภัยจากการจมน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่น้ำหลาก ควรงดลงน้ำหาปลา เด็ก และคนชราให้ระวัง!!

 

จากรายงานการเฝ้าระวังสถานการณ์ของกรมควบคุมโรค และ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในช่วงที่ผ่านมาหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบของพายุหลายระลอก เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก วาตภัย ดินโคลนถล่ม และดินสไลด์ จำนวน 17 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา ลำปาง แพร่ ลำพูน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สุโขทัย ตาก นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ปราจีนบุรี และสิงห์บุรี มีประชาชนได้รับผลกระทบ 23,278 ครัวเรือน  โดยสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงดังกล่าว ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำเนื่องมาจากระแสน้ำพัดพา รวมจำนวน 5 ราย (ในจังหวัดลำปาง 2 ราย จังหวัดน่าน แพร่ และสุโขทัย จังหวัดละ 1 ราย)”

นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียรผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น กล่าวเตือนภัยประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม มีน้ำไหลหลากให้ระมัดระวังอันตรายจากการจมน้ำเสียชีวิต กลุ่มเสี่ยงพบได้ทุกช่วงวัย พฤติกรรมเสี่ยงคือการออกเก็บผัก หาปลา ลงเล่นน้ำ หรือสัญจรทางน้ำ ซึ่งข้อมูลรายงานการเสียชีวิตจากการจมน้ำ ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พบสาเหตุการเสียชีวิตได้ 4 รูปแบบ คือ 1) การพลัดตกลงไปในแหล่งน้ำจากบริเวณบ้าน ชุมชน  2) การสัญจรทางน้ำโดยเรือแบบต่าง ๆ    หรือสัญจรโดยการเดิน หรือใช้ยานพาหนะผ่านบริเวณน้ำไหลเชี่ยว 3) การลงไปจับสัตว์น้ำ เก็บพืชน้ำ เพื่อนำมาบริโภค  และ 4) การเสียชีวิตจากการร่วมปฏิบัติงานปกป้องหมู่บ้านชุมชน   ดังนั้นจึงขอฝากเตือนให้ประชาชนที่กำลังประสบกับอุทกภัยอยู่ในขณะนี้ยึดหลักความปลอดภัยของกรมควบคุมโรค คือ “3 ห้าม 2 ให้” เพื่อป้องกันการจมน้ำในช่วงที่มีน้ำหลาก โดย 3 ห้าม ได้แก่  1.ห้ามลงเล่นน้ำ  2.ห้ามหาปลา เก็บผัก  3.ห้ามดื่มสุรา และ 2 ให้ ได้แก่ 1.ให้สวมเสื้อชูชีพ (หรือนำอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ติดตัวไปด้วยขณะต้องลงน้ำหรือต้องสัญจรทางน้ำเช่น ถังแกลลอน ขวดน้ำพลาสติกเปล่าปิดฝา) ห่วงยาง ที่ใช้พยุงเกาะลอยตัวได้ เมื่อเกิดเหตุเรือล่มหรือน้ำพัด และ 2.ให้เดินทางเป็นกลุ่ม เพื่อคอยดูแลซึ่งกันและกัน และหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด ห้ามแตะสวิทช์ไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้า หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กำลังเสียบปลั๊ก เพราะอาจมีกระแสไฟฟ้ารั่วทำให้ไฟฟ้าดูดเสียชีวิตได้ 

นายแพทย์ธีรวัฒน์ กล่าวต่อว่า “เพื่อความปลอดภัยสำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ บริเวณที่มีน้ำหลากไม่ควรออกหาผักหาปลาและลงเล่นน้ำ เพราะเสี่ยงต่อการถูกกระแสน้ำพัด หรือตกลงไปในบริเวณที่มีน้ำลึกได้   หรือ หากจำเป็นต้องออกไปในบริเวณที่มีน้ำท่วม  ควรไปเป็นกลุ่ม ไม่นำเด็กไปด้วย นำอุปกรณ์ชูชีพติดตัวไปด้วย เช่น ลูกมะพร้าว, ถังแกลลอนเปล่าผูกเชือกคล้อง, ขวดน้ำพลาสติกเปล่าผูกเชือกคล้อง ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ไม่ใส่เสื้อผ้าหนา หนัก อุ้มน้ำ ไม่ลงจับปลาในเวลากลางคืน หลีกเลี่ยงการลงน้ำหลังรับประทานอาหารใหม่ๆ เพราะเสี่ยงต่อการเป็นตะคริวที่ท้อง ห้ามมิให้เด็กลงเล่นน้ำ ผู้ปกครองผู้ที่ดูแลเด็ก ต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ”

สำหรับการช่วยเหลือคนที่กำลังจมน้ำที่ถูกต้องคือ การร้องตะโกนให้คนช่วย ควรใช้อุปกรณ์ที่หาง่ายและใกล้ตัว โยนหรือยื่นให้คนตกน้ำจับ เช่น ถังแกลลอนเปล่าปิดฝา, ขวดน้ำดื่มพลาสติกเปล่าปิดฝา, ไม้, เชือก, ผ้า หากจำเป็นต้องลงไปช่วยในน้ำ ควรทำอุปกรณ์ที่สามารถลอยน้ำได้ติดตัวลงไปด้วย เพื่อยื่นให้ผู้ที่ตกน้ำ จึงดึงเข้าฝั่ง และหากสามารถช่วยขึ้นมาได้แล้ว ห้ามจับคนจมน้ำพาดบ่าแล้วกระโดดหรือวิ่งไปมา เพื่อให้น้ำออก ควรรีบตะโกนขอความช่วยเหลือ วางคนที่จมน้ำนอนราบ ตะแคงหน้า เอาน้ำออกจากปาก และควรโทรศัพท์แจ้งขอความช่วยเหลือที่หมายเลข 1669 ทันที  หากหยุดหายใจ และหัวใจหยุดเต้น ให้กดกลางหน้าอก 30 ครั้งต่อการเป่าลมปาก 2 ครั้ง และควรนำส่งโรงพยาบาลทุกราย  ทั้งที่รู้สึกตัวและไม่รู้สึกตัว หากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

........................................................................

ข้อมูลจาก: กองโรคไม่ติดต่อ/ สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 24 กันยายน 2563

เผยแพร่ : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น

http://odpc7.ddc.moph.go.th

ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมที่ [email protected]


ข่าวสารอื่นๆ