สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น
Responsive image

แพทย์แนะให้ระมัดระวัง “กลอย” ในฤดูฝนมีความเป็นพิษสูงประชาชนควรเพิ่มความระมัดระวัง

          จากการเฝ้าระวังสถานการณ์อาหารเป็นพิษจากพืช ของกรมควบคุมโรค ที่ผ่านมาพบอุบัติการณ์อาหารเป็นพิษจากการรับประทานกลอย ส่วนใหญ่มักพบในช่วงฤดูฝน ภูมิภาคที่พบเหตุการณ์บ่อยครั้ง คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยอาการพิษจากกลอยนั้น จะมีอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน สาเหตุจากการล้างขจัดสารที่มีพิษจากกลอยออกได้ไม่หมด ก่อนที่จะนำมาประกอบอาหาร หากประชาชนจะนำกลอยมารับประทานต้องล้างพิษออกให้หมด

           นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น ได้เปิดเผยว่า ในช่วงนี้มีความเป็นไปได้ที่จะพบผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากการรับประทานกลอย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานที่นิยมนำกลอยมาประกอบเป็นอาหาร ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่มีฝนตกลงมาเป็นระยะ โดยมีการศึกษาพบว่าปริมาณสารพิษของหัวกลอยในแต่ละฤดูกาลจะแตกต่างกัน และพบว่ากลอยจะมีพิษมากในช่วงที่กลอยออกดอก คือช่วงหน้าฝนประมาณเดือนกรกฎาคม – ตุลาคม จึงทำให้ผู้ที่รับประทานกลอยในช่วงฤดูฝนจะเป็นอันตรายมากยิ่งขึ้น ซึ่งข้อมูลจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (สวทช.) ได้ให้ข้อมูลว่า “กลอย” เป็นพืชที่มีลักษณะทั่วไปเป็นไม้เถา มีหัวใหม่เกิดขึ้นทุกปีจากส่วนลำต้นใต้ดิน หัวมีขนาดต่างๆกันผิวสีฟางหรือเทา เนื้อในสีขาวถึงขาวนวล ในหัวกลอยมีแป้งและมีสารที่มีพิษ ชื่อว่า ไดออสคอรีน (dioscorine) ซึ่งพิษชนิดนี้ มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เนื่องด้วยสารไดออสคอรีนเป็นสารที่มีพิษสามารถละลายน้ำได้ดี ดังนั้นหากเอาน้ำละลายสารพิษออกมาได้หมด ก็สามารถรับประทานได้   ซึ่งต้องใช้เวลาชะล้างสารพิษไม่ต่ำกว่า 7 วัน ในสมัยก่อนมีวิธีการล้างพิษกลอยด้วยการฝานหัวกลอยเป็นชิ้นบางๆแล้วนำมาแช่น้ำไหลผ่าน เช่น ในลำธาร หรืออีกวิธีหนึ่งคือนำไปแช่ในน้ำเกลือเข้มข้น โดยเกลือจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสารไดออสคอรีนในแผ่นกลอยได้เร็วขึ้น แต่ต้องถ่ายน้ำทิ้งหลายๆ ครั้ง และใช้เวลาแช่ไม่ต่ำกว่า 3 วัน ซึ่งการรับประทานกลอยให้ปลอดภัยต้องผ่านกรรมวิธีหลายๆ ขั้นตอน และต้องมีความชำนาญในการล้างพิษกลอยเป็นพิเศษ สำหรับสารไดออสคอรีนในกลอยจะส่งผลต่อประสาทสัมผัสทั้ง 5 ดังนั้นคนที่รับประทานกลอยที่มีสารพิษเข้าไปจึงมักมีอาการ คันที่ปาก ลิ้น คอ คลื่นไส้ อาเจียน และทำให้เกิดอาการ มึนเมา วิงเวียนศีรษะ ใจสั่น ตาพร่ามัว อึดอัด และอาจเป็นลมหมดสติได้  ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับพิษจะมีอาการรุนแรงไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปริมาณสารพิษ ความต้านทานของแต่ละคน   

          นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้จะมีวิธีกำจัดพิษกลอยที่มีมาแต่โบราณ แต่ก็ยังไม่มีวิธีการใดที่บอกได้แน่ชัดว่ากลอยจะหมดพิษหรือไม่ด้วยการสังเกตจากลักษณะภายนอก ดังนั้นการแช่น้ำไว้หลายวัน หรือการตั้งข้อสังเกตตามคนส่วนใหญ่ที่เชื่อว่าการล้างกลอยไปเรื่อยๆจนกว่าเมือกที่ผิวกลอยจะหมดนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่ยืนยันได้ 100% ว่าจะไม่มีพิษหลงเหลืออยู่  ดังนั้นจึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังหากจะรับประทานกลอยในช่วงฤดูฝน และไม่ควรให้เด็กรับประทานกลอยจะดีที่สุด เนื่องจากเด็กมีน้ำหนักตัวน้อย สารพิษกระจายตัวได้เร็วกว่าผู้ใหญ่ อีกทั้งเวลาที่เกิดอาการข้างเคียงเด็กจะไม่เข้าใจ หรือสงสัย ด้วยรสชาติกลอยที่มีรสมันเหมือนกินถั่ว ทำให้รู้ตัวเมื่อแสดงอาการมากแล้ว จึงค่อนข้างอันตรายสำหรับเด็ก  และที่สำคัญหากรับประทานแล้วเกิดอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์ทันที ทั้งนี้ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

 

 

********************************

ข้อมูล : ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (สวทช.)  สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

เผยแพร่ : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ

วันที่  9 มิถุนายน 2565


ข่าวสารอื่นๆ