สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น
Responsive image

สคร.7 ขอนแก่น เตือนเกษตรกรลุยน้ำ ทำนาระวังป่วยโรคฉี่หนู หลังพบผู้ป่วยแล้วกว่าสามร้อยราย เกินครึ่งเป็นเกษตรกร

         กรมควบคุมโรค รายงานข้อมูลสถานการณ์โรคเลปโตสไปโรซิสหรือโรคไข้ฉี่หนู ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 22 พฤษภาคม 2565 พบผู้ป่วย 356 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 45-54 ปี (18.82%) รองลงมา คือ 55-64 ปี (16.57%) และอายุ 35-44 ปี (16.01%) ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร และอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ โดยจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกคือ ระนอง แม่ฮ่องสอน พังงา พัทลุง และสงขลา

        นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น แสดงความเป็นห่วงประชาชนที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งจากสถานการณ์ของโรคไข้ฉี่หนูตั้งแต่ต้นปีนี้ พบผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร ประกอบกับสถานการณ์ในปัจจุบันหลายพื้นที่ เริ่มเข้าสู่ฤดูทำนาปี  จึงอาจพบผู้ป่วยด้วยโรคไข้ฉี่หนูเพิ่มมากขึ้น โดยในกลุ่มเกษตรกรที่ต้องเดินลุยน้ำในแปลงนาที่มักจะมีน้ำขัง ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคสูง  สำหรับโรคฉี่หนู เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ที่พบได้ทุกภูมิภาคของประเทศไทย  นอกจากหนูที่เป็นตัวการหลักในการแพร่เชื้อโรคนี้แล้ว เชื้อโรคนี้อาจพบปนอยู่ในปัสสาวะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว โค แพะ แกะ ได้เช่นกัน โดยเชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายโดยการไชเข้าทางผิวหนังตามรอยแผล รอยขีดข่วน เยื่อบุของตา จมูก ปาก หรือผิวหนังปกติที่แช่น้ำเป็นเวลานาน   และอาจติดเชื้อโดยตรงจากการสัมผัสเชื้อและกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่   อาการสำคัญหลังได้รับเชื้อ  คือ มีไข้เฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ตาแดง คลื่นไส้ และปวดท้อง  อาการปวดศีรษะมักมีอาการปวดรุนแรงและเฉียบพลัน อาจมีอาการปวดเบ้าตาและกลัวแสง อาการปวดกล้ามเนื้อมักจะปวดรุนแรง  โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหลัง ต้นขา และน่อง  ซึ่งการรักษาจะได้ผลดี ควรมาพบแพทย์ทันทีที่เริ่มมีอาการป่วย   การป้องกันตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อ คือ 1. หลีกเลี่ยงการแช่น้ำติดต่อกันนานๆ 2.ถ้าจำเป็นต้องลงแช่น้ำ ต้องสวมเครื่องป้องกันทุกครั้ง เช่นรองเท้าหุ้มส้น  รองเท้าบู๊ท และถุงมือยาง สวมเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว 3.อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดทันที 4.งดรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ทุกชนิดแบบสุกๆดิบๆ อาหารค้างมื้อควรเก็บในตู้หรือภาชนะปิดมิดชิด อุ่นอาหารให้เดือดก่อนนำมารับประทาน 5.ดื่มน้ำสะอาดและบริโภคอาหารที่ปรุงสุกใหม่ 6.จัดบ้านเรือนให้สะอาด กำจัดขยะ แหล่งทิ้งเศษอาหาร เพื่อลดการแพร่พันธุ์ของหนู 7.กำจัดและทำลายหนูบริเวณที่พักอาศัยด้วยวิธีที่เหมาะสม  

        ในโอกาสนี้ขอความร่วมมือบุคลากรด้านสาธารณสุข  และอสม. ในพื้นที่ เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันโรค และเมื่อมีอาการป่วย ควรรีบพบแพทย์เพื่อป้องกันการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด โดยโรคนี้รักษาให้หายขาดได้ ย้ำเตือนประชาชนหากมีอาการ ไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อ บริเวณน่อง หลัง และต้นขา ไม่ควรซื้อยามารักษาอาการเอง ทั้งนี้ประชาชน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร  1422

 

 

********************************

ข้อมูล :  สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค

เผยแพร่ : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น

วันที่  27 มิถุนายน 2565


ข่าวสารอื่นๆ