สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น
Responsive image

สคร.7 ขอนแก่น แพทย์แนะหลักป้องกันควบคุมโรคสำหรับผู้ประสบอุทกภัย ที่อยู่ในศูนย์พักพิง

        สถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทำให้หลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมสูง น้ำไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนที่พักอาศัย  ทำให้ต้องอพยพประชาชนไปในที่ปลอดภัยชั่วคราว เช่น ในศูนย์พักพิง เมื่อมีประชาชนมาอยู่รวมกันจำนวนมาก หากมีการบริหารจัดการเรื่องสุขอนามัยสิ่งแวดล้อมไม่ดี อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ อาทิ โรคติดต่อทางเดินหายใจ โรคตาแดง อาหารเป็นพิษ  เน้นย้ำผู้เกี่ยวข้องจัดการด้านอาหาร สุขอนามัย สิ่งแวดล้อมและการป้องกันโรคให้ครอบคลุม เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นได้

           นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น ได้แสดงความห่วงใยต่อประชนในพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัย และผู้ที่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว เมื่อมีประชาชนทุกเพศทุกวัยเป็นจำนวนมากมาพักอยู่รวมกัน สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงคือความปลอดภัยและระบบบริหารจัดการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคที่ดี จึงจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคต่างๆได้   จึงขอให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของศูนย์พักพิง บริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ได้แก่ การจัดการด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม โรงประกอบอาหาร โรงครัว ส่วนกักเก็บอาหาร น้ำดื่ม ห้องสุขาที่ถูกสุขลักษณะ ถังเก็บคัดแยกขยะที่มีฝาปิด การกำจัดแมลงและสัตว์นำโรค จัดระบบช่วยเหลือประชาชเมื่อจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว และขอให้ยึดหลัก DMHT ป้องกันโควิด 19    สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงควรปฏิบัติตามข้อแนะนำ ดังนี้

1.กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ภายใน 4 ชั่วโมง ไม่กินอาหารค้างมื้อ หากจำเป็นต้องกินอาหารที่ปรุงข้ามมื้อ ควรอุ่นให้ร้อน และสังเกตกลิ่นของอาหารว่าบูดเน่าเสียหรือไม่ หากพบอาหารที่มีลักษณะบูดเสีย รสชาติเปลี่ยนไป ควรแจ้งผู้ดูแลเพื่อระงับการแจกอาหารนั้น

2.ดื่มน้ำสะอาดผ่านการต้มสุก หรือดื่มน้ำบรรจุขวดที่มีฝาปิด อยู่ในสภาพที่สะอาด ไม่มีตะกอนหรือสิ่งเจือปน

3.รักษาความสะอาดห้องน้ำและสุขภัณฑ์ หลังจากเสร็จภารกิจทุกครั้ง

4.ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษทิชชูปิดปากและจมูกเวลาไอ จาม หรือถ้ามีอาการโรคทางเดินหายใจ ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ

5.ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือทุกครั้ง ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังการใช้ห้องน้ำ และหลังไอ จาม หรือสั่งน้ำมูก

6.ทิ้งเศษขยะ เศษอาหารลงในถังขยะที่จัดไว้ให้เท่านั้น

7.หากมีอาการดังต่อไปนี้ ให้รีบแจ้งหน่วยแพทย์ประจำศูนย์ทันที เช่น มีอาการระคายเคืองตา ปวดตา ตาแดง มีน้ำตาไหล ขี้ตามากผิดปกติ  ปวดท้อง ท้องเสีย มีไข้ ปวดศีรษะ ไอ อ่อนเพลีย คันตามผิวหนัง เบื่ออาหาร สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวและโรคเรื้อรัง เช่น วัณโรค เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืดและอื่นๆที่ต้องใช้ยาต่อเนื่อง หากไม่มียามาด้วยให้แจ้งหน่วยแพทย์ประจำศูนย์ เพื่อการรักษาที่ต่อเนื่อง โรคที่พึงระวังในช่วงน้ำท่วม คือ กลุ่มโรคระบบทางเดินอาหารและน้ำ ที่พบบ่อยคือ โรคอุจจาระร่วง บิด อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ มีสาเหตุเกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค กลุ่มโรคที่มีสัตว์และแมลงเป็นพาหะ ได้แก่ โรคเลปโตสไปโรซีส หรือโรคฉี่หนู โรคไข้เลือดออก  โรคตาแดงและเยื่อบุตาอักเสบ  และกลุ่มโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ วัณโรค และแนะนำให้ปฏิบัติตนตามมาตรการ DMHT ป้องกันตนเองจากโควิด 19  ได้แก่ D (Distancing) เว้นระยะห่าง  , M (Mask Wearing) สวมหน้ากากอนามัย , H  (Hand washing) ล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ และ T (Testing) ตรวจ ATK เมื่อมีอาการโรคทางเดินหายใจ

             นายแพทย์สมาน กล่าวแสดงความห่วงในต่อผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ และขอให้รักษาสุขภาพให้แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ ฝ่ายปกครอง สาธารณสุข ผู้ประสบภัย และประชาชนทุกคน  ขอส่งกำลังใจให้ทุกท่านผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤตในเร็ววัน ทั้งนี้หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

 

******************************

เผยแพร่ : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น

วันที่ 20 ตุลาคม 2565


ข่าวสารอื่นๆ