สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น
Responsive image

หมอเตือนระวัง..จมน้ำ อุบัติการณ์สูงสุดในช่วงปิดเทอมหน้าร้อน 953 ชีวิตเด็กไทยไม่ได้กลับไปเรียนอีก

การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่งของเด็กไทย ซึ่งสูงกว่าทุกสาเหตุทั้งโรคติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ กรมควบคุมโรค เผยสถิติเด็กจมน้ำเสียชีวิตช่วงปิดเทอมหน้าร้อน 953 ราย เฉลี่ยวันละ 2 ราย ส่วนใหญ่เกิดเหตุในช่วงเดือนเมษายน และ เกิดเหตุจากแหล่งน้ำธรรมชาติมากที่สุด  ข้อมูลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561 - 2565) มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตในช่วงฤดูร้อน ซึ่งตรงกับช่วงปิดเทอม (เดือนมีนาคม - พฤษภาคม) จำนวน 953 ราย เฉลี่ยวันละ 2 ราย  โดยเฉพาะ เดือนเมษายนพบเหตุการณ์จมน้ำมากที่สุด 65 ราย รองลงมาคือ เดือนมีนาคม และเดือนพฤษภาคม

นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่  7 จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยสถานการณ์จากข้อมูลที่สอดคล้องกับภาพรวมทั้งประเทศ โดยเฉพาะช่วงที่อากาศร้อนในเดือนเมษายน ประกอบกับเป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ ส่งผลให้เด็กๆชักชวนกันไปเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติในชุมชน หรือแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ   จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตจากการจมน้ำในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ทั้งนี้ 10 จังหวัดแรกที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงที่สุดในช่วงฤดูร้อน (ปี 2561 - 2565) ได้แก่ บุรีรัมย์ (45 ราย) อุดรธานี (38 ราย) นครราชสีมา (37 ราย) สุรินทร์ (30 ราย) ร้อยเอ็ด (28 ราย)  สกลนคร (28 ราย)  นครสวรรค์ (26 ราย) ขอนแก่น (25 ราย) นครศรีธรรมราช (25 ราย) และปัตตานี (24 ราย) โดย 7 ใน 10 จังหวัดอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   

จึงขอเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมกันป้องกันการเสียชีวิตจากการจมน้ำ และขอความร่วมมือเครือข่ายสื่อมวลชนให้ช่วยกันรณรงค์เผยแพร่ข้อมูลในวงกว้าง ได้แก่ สถานีวิทยุ หอกระจายข่าว เสียงตามสายในชุมชน เพื่อให้ถึงกลุ่มเป้าหมายในระดับชุมชน โดยมุ่งหวังให้ครอบครัว (บ้าน) เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความปลอดภัยทางน้ำ ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง ได้แก่ การจัดการแหล่งน้ำเสี่ยงเช่นการสร้างรั้ว ติดป้ายคำเตือน จัดให้มีอุปกรณ์ช่วยเหลือคนตกน้ำที่หาได้ง่าย อาทิ ไม้ไผ่ เชือก แกลลอนพลาสติกมีฝาปิด หากตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยึดหลัก “ตะโกน โยน ยื่น” (ตะโกน: ให้ผู้ใหญ่ช่วย, โยน: วัสดุที่ลอยน้ำได้, ยื่น: ไม้ กิ่งไม้ ให้คนตกน้ำจับ)  ซึ่งควรต้องเน้นย้ำและสอนเด็กเสมอ ทั้งนี้ เครือข่ายด้านสาธารณสุขและด้านการศึกษาควรสนับสนุนให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ได้ฝึกทักษะการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) สนับสนุนให้เด็กมีโอกาสเรียนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด ซึ่งจะครอบคลุมเนื้อหาความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำ ทักษะการเอาชีวิตรอดในน้ำ และทักษะการช่วยเหลือคนตกน้ำ จมน้ำ และสามารถเรียนรู้จากสื่อ AR ป้องกันการจมน้ำเทคโนโลยีโลกเสมือน (Augmented Reality: AR) โดยสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่เวปไซต์ กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค    และฝากเตือนถึงผู้ปกครองว่าการป้องกันไม่ให้เด็กจมน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด“อย่าปล่อยเด็กไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง เด็กเล็กต้องอยู่ในระยะที่มือเอื้อมถึงและคว้าถึง”   ผู้ปกครองร่วมสร้างพื้นที่เล่นปลอดภัย (playpen) แก่เด็ก กรณีในครัวเรือนที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ขอให้ใช้คอกกั้นทุกราย  การทำกิจกรรมทางน้ำหรือการเดินทางทางน้ำ ให้ปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยทางน้ำ และขอให้ใส่เสื้อชูชีพหรือใช้อุปกรณ์ลอยน้ำทุกครั้ง ทั้งนี้หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถโทรสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

 

 

********************************************

ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ / กลุ่มงานป้องกันการจมน้ำ กรมควบคุมโรค / กลุ่มโรคไม่ติดต่อ สคร.7 ขอนแก่น

เผยแพร่ : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.ขอนแก่น

วันที่  4 เมษายน 2566


ข่าวสารอื่นๆ