จากสถานการณ์ที่มีฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคอีสาน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ในหลายพื้นที่ ประชาชนต้องอพยพไปในที่ปลอดภัย ซึ่งมีการบริหารจัดการของภาคส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยได้จัดให้มีศูนย์พักพิง พร้อมแนะนำการบริหารจัดการที่ดี เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อ อาทิ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบทางเดินอาหารและน้ำ โรคติดต่อที่มีสัตว์เป็นพาหะนำโรค
นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๗ จังหวัดขอนแก่น ได้แสดงความห่วงใยต่อประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัย ที่ยังคงมีปัญหาน้ำท่วมสูง และน้ำไหลหลาก ซึ่งมีความจำเป็นต้องอพยพประชาชนไปในพื้นที่ปลอดภัย เช่น ศูนย์พักพิงชั่วคราวที่ทางราชการและหน่วยงานระดับท้องถิ่นจัดตั้งขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย เมื่อมีประชาชนทุกเพศทุกวัยมาพักอยู่รวมกัน สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงคือความปลอดภัย และระบบบริหารจัดการที่ดี ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคติดต่อต่างๆได้ จึงขอแนะนำมาตรการในการป้องกันควบคุมโรคมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการในศูนย์พักพิง ได้แก่ จัดระบบให้บริการแจกจ่ายอาหารการจัดเก็บอาหารที่ถูกสุขลักษณะ มีภาชนะรองรับที่สะอาดถูกหลักอนามัย จัดให้มีน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาดปลอดภัยและเพียงพอ จัดการสิ่งแวดล้อมให้สะอาด ปลอดโปร่ง ไม่แออัด อากาศถ่ายเทได้สะดวก พร้อมกำจัดสัตว์ที่อาจเป็นพาหะนำโรค อาทิ ยุง หนู แมลงสาบ แมลงวัน จัดให้มีห้องสุขาที่ถูกสุขลักษณะ มีน้ำสะอาดพร้อมน้ำยาหรือสบู่สำหรับล้างมือ มีการจัดเก็บขยะในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิดและทำลายขยะมูลฝอยอย่างถูกต้อง มีอุปกรณ์ป้องกันควบคุมโรคอย่างเพียงพอ เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์เจลสำหรับล้างมือ ยาทากันยุง และจัดให้มีพื้นที่สำหรับให้บริการตรวจคัดกรอง รักษาโรคทางการแพทย์ และมีเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขเข้าไปควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด
สำหรับประชาชนที่อาศัยในศูนย์พักพิง จำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อแนะนำ ดังนี้ 1.) กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่เก็บไว้ไม่นานเกินกว่า 4 ชั่วโมง หากจำเป็นต้องกินอาหารที่ปรุงข้ามมื้อ ควรอุ่นให้ร้อน และสังเกตกลิ่นของอาหารว่าบูดเน่าเสียหรือไม่ หากพบอาหารบูดเสียมีกลิ่นรสชาติผิดปกติควรแจ้งผู้ดูแลเพื่อระงับการแจกอาหารนั้น 2.) ดื่มน้ำสะอาดผ่านการต้มสุกหรือดื่มน้ำบรรจุขวด น้ำที่จะนำมาดื่มต้องสะอาดไม่มีตะกอนหรือสิ่งเจือปน 3.) ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือทุกครั้ง ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังการใช้ห้องน้ำห้องส้วมและหลังไอจามหรือสั่งน้ำมูก 4.) ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษทิชชูปิดปากและจมูกเมื่อไอ จาม หรือถ้ามีอาการโรคทางเดินหายใจ ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น 5.) ทิ้งขยะ เศษอาหารลงในถังขยะที่จัดไว้ให้เท่านั้น 6.) ให้รักษาความสะอาดห้องน้ำ/ห้องส้วมทุกครั้งหลังจากเสร็จภารกิจ และหากมีอาการดังต่อไปนี้ ให้รีบแจ้งหน่วยแพทย์ประจำศูนย์ทันที คือ มีอาการระคายเคืองตา ปวดตา ตาแดง มีน้ำตาไหล ขี้ตามากผิดปกติ ปวดท้อง ท้องเสีย มีไข้ ปวดศีรษะ ไอ อ่อนเพลีย คันตามผิวหนัง เบื่ออาหาร สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวและโรคเรื้อรัง เช่น วัณโรค เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืดและอื่นๆที่ต้องใช้ยาต่อเนื่อง หากไม่มียามาด้วยให้แจ้งหน่วยแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำศูนย์ เพื่อการรักษาที่ต่อเนื่อง โรคที่พึงระวังในช่วงน้ำท่วมคือ กลุ่มโรคระบบทางเดินอาหารและน้ำ ที่พบบ่อยคือ โรคอุจจาระร่วง บิด อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ มีสาเหตุเกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค และกลุ่มโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ วัณโรค กลุ่มโรคที่มีสัตว์และแมลงเป็นพาหะได้แก่ โรคเลปโตสไปโรซีส หรือโรคฉี่หนู โรคไข้เลือดออก โรคตาแดงและเยื่อบุตาอักเสบ
นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หน่วยงานองค์กรต่างๆที่มีบทบาทดูแลให้ความช่วยเหลือตลอดจนประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ ให้เพิ่มความตระหนักถึงการป้องกันโรคและภัยสุขภาพตามคำกล่าวที่ว่า “การป้องกันย่อมจะดีกว่าการรักษา” ทั้งนี้หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
******************************
ข้อมูลจาก: กองโรคติดต่อทั่วไป/ สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
เผยแพร่ : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ
ศูนย์รับข้อร้องเรียนสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๗ จ.ขอนแก่น
หมายเลข ๐๔๓-๒๒๒๘๑๘-๙ ต่อ ๒๓๗