สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น
Responsive image

เตือน !! คนท้องต้องระวัง อย่าให้ยุงลายกัด เสี่ยงติดไวรัสซิกา มีส่วนทำให้ลูกศีรษะเล็ก พัฒนาการช้า ในพื้นที่มีแนวโน้มพบพู้ป่วยเพิ่มขึ้น แนะหากมีอาการควรรีบพบแพทย์ ไม่ซื้อยากินเอง

วันที่ 25 กันยายน 2566 นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 ประกอบด้วยจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด มีแนวโน้มที่จะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น โดย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2566 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น ได้รับรายงานผู้ป่วยโรค Zika virus infection ในพื้นที่ จำนวน 4 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 0.08 ต่อประชากรแสนคน ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต โดยในเดือนสิงหาคมมีการพบผู้ป่วยสูงสุด จำนวน 2 ราย และคาดการณ์ว่าแนวโน้มผู้ติดเชื้อในพื้นที่จะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากในช่วงนี้มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง เอื้อต่อการแพร่พันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย เนื่องจากฝนตกทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย

โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ติดต่อจากการถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสซิกากัด ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงแต่หญิงตั้งครรภ์ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากเชื้อไวรัสซิกาจากหญิงตั้งครรภ์ที่ป่วย สามารถส่งต่อไปยังทารกในครรภ์ได้ และเชื้อไวรัสซิกามีส่วนทำให้ทารกมีภาวะศีรษะเล็ก(microcephaly) พัฒนาการช้า และเกิดความพิการตั้งแต่กำเนิด บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น แท้ง ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษา โดยผู้ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสซิกาจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ มีผื่นแดงที่บริเวณลำตัว แขน ขา เยื่อบุตาอักเสบ ตาแดง ปวดข้อ อ่อนเพลีย ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวโดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ ควรรีบปรึกษาแพทย์และเข้ารับการรักษาทันที ไม่ควรซื้อยาทานเอง

การป้องกันการติดเชื้อไวรัสซิกาที่สำคัญ คือ ป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด ด้วยการทาหรือจุดยากันยุง นอนในมุ้ง ติดตั้งมุ้งลวดป้องกันยุงเข้าบ้าน สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาวให้มิดชิด และ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายภายในบ้าน และชุมชน โดยทุกภาคส่วนต้องช่วยกันใช้มาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค ได้แก่ 1. เก็บบ้านให้โล่ง อากาศปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก 2. เก็บขยะ เศษภาชนะต่างๆไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และ 3. เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิด เช่น โอ่ง ไห ขวด ถัง เป็นต้น ไม่ให้ยุงลายวางไข่
เพื่อป้องกัน 3 โรคที่มียุงลายเป็นพาหะ ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย  

นายแพทย์สมาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับการฝากครรภ์ และติดตามตลอดการตั้งครรภ์ สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ตรวจพบว่ามีการติดเชื้อไวรัสซิกา จะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยสูตินรีแพทย์ ซึ่งทารกที่เกิดจากหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสซิกาไม่ได้เกิดภาวะศีรษะเล็กทุกราย ดังนั้นคนรอบข้างจะต้องคอยดูแลและเป็นกำลังใจตลอดการตั้งครรภ์

 

 

***************************************************
ข้อมูล : กลุ่มระบาดวิทยาฯ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.ขอนแก่น
ข่าว : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงฯ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.ขอนแก่น
วันที่ 25 กันยายน 2566


ข่าวสารอื่นๆ