สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น
Responsive image

กรมควบคุมโรค ร่วมมือ กรมปศุสัตว์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เตรียมพร้อมรับมือโรคไข้หวัดนก และโรคแอนแทรกซ์จากต่างประเทศ ตามแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health)

กรมควบคุมโรค ประชุมหารือร่วมกับกรมปศุสัตว์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ติดตามสถานการณ์โรคไข้หวัดนก และโรคแอนแทรกซ์ ทั้งในคน สัตว์ และสัตว์ป่า รวมทั้งประเมินความเสี่ยง และหาแนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ ตามแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) เนื่องจากมีรายงานจากศูนย์ป้องกันควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (US CDC) รายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 รายใหม่ และการรายงานพบผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ในประเทศเพื่อนบ้าน

          วันนี้ (7 มิถุนายน 2567) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้หวัดนก ในต่างประเทศ ปี 2567 พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกจากโคนมในประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน 3 ราย ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ข้อมูลจากศูนย์ป้องกันควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (US CDC) พบว่าทั้ง 3 รายทำงานในฟาร์มโคนม มีอาการตาแดง และเยื่อบุตาอักเสบ ได้รับยาต้านไวรัส และแยกกักตัวที่บ้าน ในจำนวนนี้หายจากอาการป่วยเรียบร้อยแล้ว 2 ราย รายที่ 3 อยู่ระหว่างแยกกักตัวที่บ้านและอาการดีขึ้นแล้ว นอกจากนี้กระทรวงเกษตรสหรัฐเปิดเผยว่า พบเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ใน "อัลปากา" ซึ่งเป็นอูฐชนิดหนึ่ง ที่ฟาร์มแห่งหนึ่งในรัฐไอดาโฮ หลังจากสัตว์ปีกที่ติดเชื้อในฟาร์มดังกล่าวได้ถูกกำจัดไปแล้วก่อนหน้านี้ ศูนย์ป้องกันควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา ยังคงติดตามสถานการณ์โรคอย่างใกล้ชิด สำหรับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงประเทศไทย มีรายงานพบโรคไข้หวัดนกในคน ได้แก่ ประเทศกัมพูชา 5 ราย เสียชีวิต  1 ราย และประเทศเวียดนาม 1 ราย เสียชีวิต 1 ราย ส่วนสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในประเทศไทย ข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังโรค กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ยังไม่พบผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนก นับตั้งแต่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกรายสุดท้ายในประเทศไทยใน ปี 2549

          กรมควบคุมโรค มีมาตรการร่วมกับเครือข่ายในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคในคน ดังนี้ 1) ติดตาม ละประเมินความเสี่ยงของสถานการณ์โรคทั้งในคนและสัตว์อย่างต่อเนื่อง  2) เตรียมพร้อมหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อทั้งในระดับจังหวัด และอำเภอ ในการดำเนินการสอบสวน และควบคุมโรคร่วมกับกรมปศุสัตว์และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชในพื้นที่  3) แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศให้เฝ้าระวังผู้ป่วยทั้งในโรงพยาบาลและชุมชน โดยเฉพาะจังหวัดที่มีช่องทางเข้าออกติดต่อกับพื้นที่ที่พบการระบาด  4) สื่อสารความเสี่ยง และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การป้องกันโรคไข้หวัดนกในพื้นที่

          สำหรับมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคในสัตว์และสัตว์ป่า กรมปศุสัตว์ และกรมอุทยานฯ ได้มีการสุ่มตรวจหาเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ปีกและนกป่าอย่างต่อเนื่อง และมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด เช่น ประกาศชะลอการนำเข้าสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มาจากประเทศที่พบการระบาดไข้หวัดนก ให้ด่านกักกันสัตว์ระหว่างประเทศบูรณาการร่วมกับด่านศุลกากร สุ่มตรวจการนำเข้าสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ออกประกาศแจ้งเตือนปศุสัตว์ทั่วประเทศให้เฝ้าระวังการเกิดโรคในพื้นที่ เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนกและแอนแทรกซ์ ประชาสัมพันธ์แนะนำเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์     ให้มีการจัดระบบป้องกันโรคก่อนเข้าฟาร์ม และหลีกเลี่ยงการเลี้ยงสัตว์หลายชนิดในบริเวณเดียวกัน

          นายแพทย์ธงชัย กล่าวต่อว่า สถานการณ์โรคแอนแทรกซ์ในประเทศไทย พบผู้ป่วยแอนแทรกซ์อย่างต่อเนื่อง ช่วงปี 2535 - 2543 โดยพบการระบาดในคนและสัตว์ครั้งสุดท้ายที่จังหวัดพิจิตร ในปี 2543 จังหวัดที่มีการรายงานโรค  เป็นประจำ ได้แก่ เชียงราย ตาก พิษณุโลก สุรินทร์ อุดรธานี พะเยา และพิจิตร จังหวัดที่มีรายงานพบผู้ป่วยประปราย ได้แก่ นครพนม เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง กรุงเทพมหานคร แพร่ สุโขทัย อุทัยธานี ประจวบคีรีขันธ์ บุรีรัมย์ และนนทบุรี โดยปี 2560 พบผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ 2 ราย ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จากการนำซากแพะที่ตายจากประเทศเมียนมามาชำแหละด้วยมือเปล่า และในปี 2567 ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรายงานพบผู้ป่วยใน 2 ประเทศ ได้แก่ สปป.ลาว ที่แขวงจำปาสัก มีผู้ป่วยรวม 65 ราย และประเทศอินโดนีเซีย ที่เมืองยอร์คจาการ์ตาร์ มีผู้ป่วยรวม 17 ราย ทั้งสองเหตุการณ์ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต

          กระทรวงสาธารณสุข เพิ่มความเข้มแข็งของการเฝ้าระวังโรคทั้งในคนและสัตว์โดยเฉพาะช่องทางเข้าออกที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน หากพบผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้กับนิยามโรคแอนแทรกซ์ ให้ดำเนินการสอบสวนโรคทันที ห้ามเคลื่อนย้าย ผ่าซาก ชำแหละเนื้อหรือหนังสัตว์ที่ตาย ห้ามชำแหละขายหรือรับประทาน และต้องรับประทานเนื้อปรุงสุกเท่านั้น รวมถึงการปฏิบัติตามสุขอนามัยที่ดีอย่างเคร่งครัด ได้แก่ การล้างมือบ่อยๆ กินอาหารปรุงสุกสะอาด หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่วยตาย เป็นต้น จะสามารถป้องกันโรคไข้หวัดนกและโรคแอนแทรกซ์ได้

          ทั้งนี้ จากที่มีรายงานข่าวการแพร่เชื้อไข้หวัดนกจากโคนมมาสู่คนที่ประเทศสหรัฐอเมริกานั้น กรมควบคุมโรค และ กรมปศุสัตว์ ขอแนะนำเกษตรผู้เลี้ยงโคนม หากพบสัตว์ปีก หรือนกอพยพป่วยตายผิดปกติอยู่ในฟาร์ม ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ให้มาตรวจสอบทันที หรือโทร 063-225-6888 และหากมีอาการคล้ายไข้หวัด หรือมีตาแดงอักเสบหลังสัมผัสกับสัตว์ ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยงให้แพทย์ทราบ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

 

****************************

ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 7 มิถุนายน 2567


ข่าวสารอื่นๆ