จากกรณีที่กรมควบคุมโรค ได้แจ้งเตือนประชาชนที่นิยมกินเห็ดป่าที่ขึ้นตามธรรมชาติ ให้ระมัดระวังเห็ดที่มีพิษ หากกินเข้าไปอาจมีความเสี่ยง จากข้อมูลของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดมีพิษล่าสุดที่ อ.ภูเรือ จ.เลย เสียชีวิต 1 รายและป่วยจำนวน 4 รายจากการกินเห็ดระโงก ซึ่งเป็นเห็ดพิษ คาดการณ์ว่าจะพบอุบัติการณ์มากขึ้นเพราะเป็นช่วงที่เริ่มมีฝนตกลงมา ทำให้เห็ดในพื้นที่ป่าหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี ซึ่งมีทั้งเห็ดกินได้ และเห็ดที่มีพิษ เมื่อเห็ดอยู่ในระยะดอกตูม จะมีความคล้ายคลึงกันมาก อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด และนำเห็ดที่มีพิษมาปรุงประกอบอาหาร
นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.ขอนแก่น มีความห่วงใยต่อประชาชนโดยเฉพาะในช่วงนี้หลายพื้นที่มีฝนตกทำให้พื้นที่ป่าเริ่มมีเห็ดธรรมชาติ เนื่องจากเห็ดป่ามีทั้งเห็ดที่สามารถนำมากินได้ และเห็ดที่มีพิษ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันมากในขณะที่ยังเป็นดอกตูม จะแยกชนิดของเห็ดได้ยาก เช่น เห็ดไข่ห่านเหลือง และเห็ดไข่ห่านขาว เห็ดทั้งสองชนิดขณะเป็นดอกตูม ลักษณะจะเหมือนเห็ดระโงกหินทั้งขนาด สี ก็ยังเหมือนกันอีกด้วย อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ทั้งนี้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ด เช่น การจุ่มช้อนเงินลงไปในหม้อต้มเห็ด การนำไปต้มกับข้าวสาร หรือใช้ปูนกินหมากป้ายที่ดอกเห็ด ถ้าเป็นเห็ดมีพิษจะกลายเป็นสีดำ ซึ่งวิธีเหล่านี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการอ้างอิงในการใช้ทดสอบพิษกับเห็ดกลุ่มนี้ได้ โดยสารพิษที่พบอยู่ในเห็ดสามารถแบ่งออกตามลักษณะของการออกฤทธิ์ต่อร่างกายได้ 4 ประเภทคือ 1.) ออกฤทธิ์ต่อเซลล์ มีผลต่อ ตับ ไต ฤทธิ์ของพิษรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้ หลังจากกินเห็ด 6 ชั่วโมง หากรับประทานเห็ดที่มีพิษชนิดนี้เพียงดอกเดียวก็อาจทำให้เสียชีวิต สารพิษนี้ทนความรอนได้ดี การต้ม ทอด ย่าง ไม่สามารถทำลายพิษได้ พบในเห็ดพื้นบ้านได้แก่ เห็ดไข่ตายซาก (ฮาก) เห็ดระโงกหิน เห็ดสมองวัว 2.) ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทอัตโนมัติ อาการปรากฎภายใน 20 นาทีถึง 2 ชั่วโมง ได้แก่ เห็ดหิ่งห้อยเห็ดน้ำหมึก หรือเห็ดถั่ว 3.) ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง อาการปรากฎภายใน 20 นาทีถึง 2 ชั่วโมง ได้แก่ เห็ดเกล็ดขาว เห็ดขี้ควาย เห็ดขี้วัว ชอบขึ้นในมูลสัตว์ อาจทำให้เกิดอาการเพ้อ ประสาทหลอน 4.)ออกฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร อาการปรากฏภายใน 30 นาทีถึง 3 ชั่วโมง เป็นเห็ดพิษที่ทำให้เกิดอาการเฉพาะระบบทางเดินอาหาร มีอาการจุกเสียด ยอดอก อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย เช่นเห็ดหัวกรวดครีบเขียว เห็ดแดงน้ำหมาก
เพราะฉนั้นประชาชนไม่ควรรับประทานเห็ดที่ไม่รู้จัก เห็ดที่สงสัย และไม่แน่ใจ และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดร่วมกับสุรา เพราะฤทธิ์จากแอลกอฮอล์จะทำให้พิษแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และทำให้อาการรุนแรงขึ้นด้วย หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียหลังจากกินเห็ดพิษเข้าไป ไม่ควรล้วงคอหรือให้กินไข่ขาวดิบเพื่อกระตุ้นให้อาเจียน เพราะอาจทำให้เกิดแผลในคอ และการกินไข่ขาวดิบจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยท้องเสียเพิ่ม หรือติดเชื้อได้ ให้รีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการรับประทานเห็ดโดยละเอียด พร้อมกับนำตัวอย่างหรือภาพถ่ายเห็ดพิษไปด้วย หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
*************************************
ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข / กรมควบคุมโรค
ข่าว : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น
เผยแพร่ : วันที่ 10 มิถุนายน 2567