จากการที่กระทรวงสาธารณสุขได้มีคำเตือนให้ระวังโรคฉี่หนูทุกพื้นที่ แนะทำความสะอาดกำจัดหนูพาหะโดยโรคเลปโตสไปโรซีส หรือโรคฉี่หนู เป็นโรคประจำถิ่นของไทย ปัจจุบันพบได้ทั้งในเขตเมืองและชนบท พบผู้ป่วยได้ตลอดปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา เริ่มทำงานในพื้นที่ อาจสัมผัสเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งบริเวณพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง
สำหรับข้อมูลการเจ็บป่วยด้วยโรคไข้ฉี่หนูในประเทศไทยโดยกองระบาดวิทยาได้รายงานสถานการณ์ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 สิงหาคม 2567 พบว่า มีผู้ป่วย 2,317 ราย และเสียชีวิตแล้ว 26 ราย สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 (จังหวัดขอนแก่น ,ร้อยเอ็ด ,กาฬสินธุ์ ,มหาสารคาม) พบผู้ป่วยติดเชื้อ 151 ราย ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่าข้อมูลการเจ็บป่วยด้วยโรคฉี่หนู กลุ่มป่วยที่พบมากที่สุดคือ กลุ่มเกษตรกรที่ทำงานในไร่นา รองลงมา คือผู้ประกอบอาชีพรับจ้าง และผู้ที่ต้องสัมผัสน้ำขังดินโคลนชื้นแฉะบ่อยๆ ซึ่งอาจสัมผัสเชื้อที่เจือปนอยู่ในน้ำและในดิน โดยเฉพาะเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ควรใส่ใจกับการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันก่อนทำงาน ที่ต้องสัมผัสพื้นดิน โคลน หรือน้ำที่ขังอยู่ตามธรรมชาติ เช่น การสวมใส่รองเท้าหุ้มส้น รองเท้าบู๊ท รองเท้ายาง สวมถุงมือยาง และรีบทำความสะอาดร่างกายทันทีหลังเสร็จงาน และหากมีอาการไข้สูงปวดศีรษะ เจ็บกล้ามเนื้อบริเวณน่องและต้นขา ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา
จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้เสียชีวิตใน รอบ 5 ปีที่ผ่านมา ช่วงเวลาเริ่มป่วยจนถึงเสียชีวิตเท่ากับ 5 วัน ขณะที่ในกลุ่มที่รอดชีวิตจากโรคฉี่หนู พบว่าเป็นกลุ่มป่วยที่ไปพบแพทย์ทันทีหลังจากเริ่มมีอาการป่วยแล้วไม่เกิน 3 วัน ดังนั้นหากสงสัยว่าจะป่วยด้วยโรคนี้ จะต้องรีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ควรรักษาอาการโดยการซื้อยามากิน พร้อมกับเล่าประวัติให้ละเอียด แพทย์จะได้ให้การรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตทั้งนี้หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
“ไข้สูง ปวดศีรษะ เจ็บน่องและโคนขาไม่ควรซื้อยากินเอง ควรรีบพบแพทย์”
*******************************
เผยเเพร่ : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงฯ สคร.7 จ.ขอนแก่น
วันที่ 17 กันยายน 2567