นายแพทย์หิรัญวุฒิ แพร่คุณธรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น ได้ เปิดเผยสถานการณ์เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษทางอากาศในพื้นที่รับผิดชอบ ได้แก่ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ในช่วง 7 วันที่ผ่าน พบว่า คุณภาพอากาศ (AQI) และฝุ่น PM2.5 มีค่าเพิ่มสูงขึ้นอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ และพบข้อมูลในวันที่ 24 มกราคม 2568 คุณภาพอากาศ (AQI) มีค่าสูงสุดเท่ากับ 199 และปริมาณฝุ่น PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงมีค่าสูงสุดเท่ากับ 74.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร พบสูงสุดอยู่ที่อำเภอเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ รองลงมาคืออำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น คุณภาพอากาศ (AQI) เท่ากับ 194 และปริมาณฝุ่น PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าสูงสุดเท่ากับ 72.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
และพบรายงานจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ว่าประเทศไทยพบจุดความร้อนจำนวน 521 จุด โดยพื้นที่ที่พบมากที่สุดคือพื้นที่เกษตรกรรม รองลงมาคือป่าสงวนแห่งชาติ แนะประชาชนให้ความร่วมมืองดเผาวัชพืชในที่โล่ง ซึ่งเป็นสาเหตุปัจจัยหลักของการเกิดฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 และควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง รวมทั้งเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น หากมีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก/ถี่ หรือมีเสียงวี๊ด แน่นหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ อ่อนล้าผิดปกติ มีผื่นคัน ผื่นแพ้ เยื่อบุตาอักเสบ หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์ ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง โรคหืด โรคหัวใจและหลอดเลือด หญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยติดเตียง อาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว และจะทำให้ความรุนแรงของโรคเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ PM2.5 ยังมีองค์ประกอบของสารเคมีบางชนิดที่ก่อให้เกิดมะเร็งปอดได้
นายแพทย์หิรัญวุฒิ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มโรคที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ผู้ป่วย โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ (Asthma) โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคระบบหัวใจและหลอดเลือดและสมองอุดตันขาดเลือด กลุ่มโรคตาอักเสบ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ กรณีนี้กรมควบคุมโรค ได้แนะนำประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่น PM2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานและเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (พื้นที่สีส้ม) ให้ดูแลตนเองเป็นพิเศษ ลดการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง หากมีความจำเป็นต้องออกนอกอาคารให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยเฉพาะผู้ที่ต้องสัมผัสกับฝุ่นอย่างต่อเนื่อง เช่น ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นเวลานาน และตำรวจจราจรที่ทำงานกลางแจ้ง ควรสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น สวมแว่นตา สวมเสื้อแขนยาว เพื่อป้องกันฝุ่นด้วย หากมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจติดขัด แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ หรือหมดสติ ให้รีบไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลโดยเร็ว หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
***************************
ข้อมูล : ทีมตระหนักรู้สถานการณ์ กลุ่มโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม
เผยแพร่ : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ
วันที่ 24 มกราคม 2568