กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
Responsive image

กอพ.ประชุมติดตามความก้าวหน้าการลดการตีตราตนเอง จ.สงขลา เป็น 1 ใน 5 จังหวัดนำร่อง พื้นที่ดำเนินงาน PEPFAR SITE

ระหว่างวันที่ 1 - 2 พฤษภาคม 2568 ณ โรงพยาบาลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ประชุมติดตามการดำเนินงานลดการตีตราตนเองใน 5 จังหวัดนำร่อง (PEPFAR site) เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน พร้อมสังเกตการณ์การประเมินผลในสถานการณ์จริงในสถานบริการ และหารือแนวทางแก้ไขอุปสรรคเพื่อพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีผู้แทนจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขตที่ 12 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สถานพยาบาลภาคีเครือข่าย และเจ้าหน้าที่ให้บริการในโรงพยาบาลหาดใหญ่ เข้าร่วมประชุม

ตามที่กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้ดำเนินโครงการการเร่งรัดการดูแลรักษาด้านเอชไอวี เพื่อมุ่งสู่ 95-95-95 (Accelerating comprehensive HIV treatment and care to achieve 95-95-95) โดยการจัดกิจกรรมการดำเนินงานลดการตีตราตนเองใน 5 จังหวัดนำร่อง (PEPFAR site)  โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากเงินนอกงบประมาณเงินช่วยเหลือจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S.CDC) เพื่อขับเคลื่อนการสร้างระบบบริการสุขภาพที่ปลอดการตีตราและเลือกปฏิบัติ กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้จัดการประชุมติดตามการดำเนินงานลดการตีตราตนเองใน 5 จังหวัดนำร่อง (PEPFAR site) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน พร้อมทั้งร่วมสังเกตการณ์การประเมินผลในสถานการณ์จริงในสถานบริการ และหารือแนวทางแก้ไขอุปสรรคเพื่อพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นายแพทย์พงศ์ธร ชาติพิทักษ์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้มอบหมายให้ นางสาวนิอร อริโยทัย รองหัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบดูแลด้านจิตสังคม เป็นผู้แทนกองฯ ในการจัดการประชุมครั้งนี้ โดยมี นายแพทย์ประวิทย์ วรรณโร รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ่ ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม

ตลอดระยะเวลา 2 วันของการประชุม ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการดำเนินงานในพื้นที่ ร่วมวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการตีตราตนเอง และลงพื้นที่สังเกตการณ์การให้บริการจริงของโรงพยาบาลหาดใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นแบบของระบบบริการสุขภาพที่ปราศจากการตีตราและเลือกปฏิบัติ กิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของการขับเคลื่อน “Zero Discrimination in Healthcare” และตอกย้ำบทบาทของผู้ให้บริการในการดูแลกลุ่มเปราะบางทางสุขภาพได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืน


ข่าวสารอื่นๆ