กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
Responsive image

กรมควบคุมโรค ร่วมกับภาคีเครือข่าย ประชุมคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์ และขับเคลื่อนการยุติปัญหาเอดส์

กรมควบคุมโรค ร่วมกับภาคีเครือข่าย ประชุมคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์ และขับเคลื่อนการยุติปัญหาเอดส์

     วันที่ 12 มิถุนายน 2568  ณ ห้องประชุมอายุรกิจโกศล อาคาร 1 ชั้น 2 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  นายแพทย์ภาณุมาศ  ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธาน การประชุมคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์และขับเคลื่อนการยุติปัญหาเอดส์ ครั้งที่ 1/2568 โดยมีผู้แทนภาครัฐ ภาคประชาสังคม รวม 40 คน การประชุมจัดขึ้นเพื่อรับทราบคำสั่ง คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกัน และแก้ไขปัญหาเอดส์ ที่ 1/2568 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ในคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ลงวันที่ 31 มกราคม 2568

“กรมควบคุมโรค มุ่งเน้นส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย ในทุกกลุ่มประชากร โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน  พร้อมกระตุ้นการเปิดคลินิก เพื่อดูแล-รักษา โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งเอชไอวี ให้รู้เร็ว รักษาเร็ว” นายแพทย์ภาณุมาศ กล่าว

     ด้านนายแพทย์พงศ์ธร ชาติพิทักษ์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองโรคเอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รายงานถึงสถานการณ์เอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แบ่งเป็น 4 ส่วนสำคัญ ดังนี้ 1. เอชไอวี พบว่า ยังพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี
ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ขณะที่ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการดูแลรักษา โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่รู้สถานะตนเอง ได้รับยาต้านไวรัส และสามารถกดปริมาณไวรัสได้สำเร็จ ใกล้เคียงเป้าหมาย 95-95-95 :
(95-92-98) 2. โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พบ อัตราป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 5 โรคหลัก มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะโรคซิฟิลิสและหนองใน ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนในกลุ่มเยาวชน และพบอัตราป่วยสูงในบางพื้นที่ เช่น เขต 6 (ภาคตะวันออก) และเขต 13 (กรุงเทพมหานคร)
3.ถุงยางอนามัย มีแนวโน้มการใช้ถุงยางอนามัยลดลง เมื่อเทียบกับช่วงหลายปีก่อน ปัจจัยสาคัญมาจากพฤติกรรมและค่านิยมทางเพศที่เปลี่ยนแปลงไป และ 4. การถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูก (เอชไอวี, ซิฟิลิส, ไวรัสตับอักเสบ บี) ประเทศไทยสามารถควบคุมการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและไวรัสตับอักเสบ บี จากแม่สู่ลูก ให้อยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย แต่ยังต้องเร่งรัดมาตรการป้องกันและคัดกรองซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์เนื่องจากอัตราการเกิดโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสูงกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนด

     นอกจากนี้ที่ประชุมพิจารณา (ร่าง) แผนงานการขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างยั่งยืนด้านเอชไอวี ประเทศไทย (Thailand’s HIV Response Sustainability Roadmap) จากทีมมูลนิธิ เพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP Foundation) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และ UNAIDS ด้วยการร่วมสนับสนุนงบประมาณจาก สวรส. และ USAIDS พัฒนากระบวนการและจัดทำแผน HIV Response Sustainability Roadmap ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ใช้กระบวนการที่มีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งแผนฯ นี้ นับเป็นฉบับแรกของประเทศไทย เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางสำคัญในการดำเนินงานยุติปัญหาเอดส์
พร้อมให้ข้อเสนอแนะชุดบริการป้องกันแบบรอบด้าน (Comprehensive prevention package) ในการดำเนินงานป้องกันเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในเยาวชนรวมถึงรับทราบการดำเนินงาน
ด้านถุงยางอนามัย ตามยุทธศาสตร์ด้านถุงยางอนามัย (พ.ศ. 2563-2573) ภายใต้ยุทธศาสตร์ แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560-2573


ข่าวสารอื่นๆ