กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
Responsive image

สุดเฮ! สปสช. เพิ่ม “องค์กรภาคประชาสังคมที่จัดบริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน”  เป็นสถานบริการสาธารณสุขในระบบบัตรทอง

สุดเฮ! สปสช. เพิ่ม “องค์กรภาคประชาสังคมที่จัดบริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน” 

เป็นสถานบริการสาธารณสุขในระบบบัตรทอง

นับเป็นข่าวดีต้อนรับเดือนตุลาคมนี้ เมื่อทางบอร์ด สปสช.เห็นชอบให้ “องค์กรภาคประชาสังคมที่ผ่านการประเมินมาตรฐานการจัดบริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน” หรือ (Community Based Organization: CBO) ทั้ง 16 แห่ง เป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เพื่อร่วมบริการประชาชนกลุ่มเสี่ยงให้เกิดการเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น พร้อมรับค่าบริการภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

การสร้างความเข้มแข็งของระบบบริการสุขภาพด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน อาศัยความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคประชาสังคมและภาครัฐ นั่นเพราะภาคประชาสังคมมีศักยภาพในการเข้าถึง เครือข่ายเพื่อนของประชากรกลุ่มเป้าหมายที่สามารถให้ข้อมูล ความรู้ คำแนะนำ และร่วมจัดบริการทั้งในรูปแบบบริการเคลื่อนที่เชิงรุก หรือบริการที่ศูนย์สุขภาพขององค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งจะทำให้ประชากรกลุ่มเป้าหมายมีความพึงพอใจและตระหนักถึงความสำคัญในการเข้าสู่บริการได้อย่างครอบคลุมและต่อเนื่อง โดยการเชื่อมโยงบริการและครอบคลุมพื้นที่และประชากรกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่

RRTTPR

การเข้าถึง (Reach: R)

การเข้าสู่บริการ (Recruit: R)

การตรวจเอชไอวี (Test: T)

การรักษา (Treatment: T)

การป้องกัน (prevention: P)

การคงอยู่ในระบบ (Retain: R)

นับเป็นอีกหนึ่งแรงสำคัญที่จะทำให้ยุติปัญหาเอดส์ได้ในปี 2573 โดยกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค ร่วมกับศูนย์ความร่วมมือไทย - สหรัฐ ด้านสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายองค์กรภาครัฐ วิชาการ และภาคประชาสังคม ได้พัฒนากลไกด้านกฎหมายเพื่อรองรับการดำเนินงานด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชนของภาคประชาสังคม โดยมีระเบียบกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2562 จำนวน 3 ฉบับ และได้จัดทำมาตรฐานการจัดบริการเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการจัดบริการเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชนให้มีคุณภาพ   

Tips for you

แนวปฏิบัติในการพิจารณากำหนดเป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น สปสช. ตามมาตรา 3 แห่ง พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กำหนดเกณฑ์พิจารณาไว้ 3 ประเด็น ได้แก่

1) เป็นองค์กรหรือหน่วยงานภาคเอกชนที่มีการดำเนินงานการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพระราชบัญญัติสถานพยาบาล

2) เป็นองค์กรหรือหน่วยงานภาคเอกชนที่มีผลการดำเนินงานในด้านสาธารณสุขไม่น้อยกว่า 1 ปี และได้รับการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหรือองค์กรเอกชนที่เป็นนิติบุคคล ที่ สปสช. รับรอง

3) มีบุคลากรที่มีประสบการณ์ และได้รับรองสมรรถนะจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง หรือองค์กรเอกชนที่เป็นนิติบุคคลที่ สปสช. รับรอง หรือ มีบุคลากรที่ผ่านการอบรมหลักสูตรที่สอดคล้องกับบริการ หรือกิจกรรมที่จะจัดบริการ (มติที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2563 วันที่ 3 ก.พ. 2523)


ข่าวสารอื่นๆ