Love is all around ให้รักที่ปลอดภัยอยู่รอบตัวเรา
เข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ทีไร กลิ่นของความรักคละคลุ้งอยู่ทุกอณู นั่นเพราะว่า 14 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันวาเลนไทน์ ถือเป็นช่วงเทศกาลแห่งความรัก ที่ทุกคนล้วนแสดงความรักต่อกัน แต่จะทำอย่างไร...ให้ความรักที่อยู่รอบตัวเรานั้น เป็นความรักที่ปลอดภัย ดังนั้น จึงขอเผยเคล็ด(ไม่)ลับ ของการมีรักแบบปลอดภัยมาฝากกัน
“รัก” ให้พกและใช้ถุงยางอนามัย ให้เป็นเรื่องปกติ
ดีเดย์! 1 ก.พ.แจกถุงยางผ่านแอป “เป๋าตัง”
สปสช.สนับสนุนบริการถุงยางอนามัย และสารหล่อลื่น สำหรับกลุ่มเป้าหมาย ประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งจะได้รับถุงยางอนามัยครั้งละ 10 ชิ้นต่อคนต่อสัปดาห์ ไม่เกิน 52 ครั้ง/คน/ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป โดยสามารถเข้ารับบริการถุงยางอนามัยได้ที่หน่วยบริการประจำและหน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริการที่รับส่งต่อเฉพาะด้านเวชกรรม ด้านการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ด้านบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ร้านยา และคลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นต้น ด้วยการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” บนสมาร์ทโฟน และในกรณีผู้ไม่มีสมาร์ทโฟนสามารถใช้บัตรประชาชนลงทะเบียนรับบริการได้ที่หน่วยบริการโดยตรง อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nhso.go.th/news/3878
“รัก” ให้สื่อสารเพื่อป้องกัน ให้เป็นเรื่องปกติ เพื่อให้ทุกคน กล้าพูด และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องการใช้ถุงยางอนามัย โดยไม่เขินอาย รวมถึงกล้าที่จะสื่อสารเจรจาต่อรองให้มีรักที่ปลอดภัย กรมควบคุมโรคชวนทุกคน สื่อสารเพื่อป้องกัน ให้เป็นเรื่องปกติ ด้วยไลน์สติกเกอร์ ชุด “น้องด้อม ชวนรักแบบ Safe Safe ซีซั่น 2” เปิดให้ดาวน์โหลดฟรี ระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 – 14 มีนาคม 2566 ที่ Line OA Safe SEX Story กดค้นหาได้ที่ @973ktdgz (จำนวนจำกัด 1,000 ชุด) พร้อมภาพเคลื่อนไหวในรูปแบบ GIF ซึ่งสามารถใช้แทนการสื่อสารได้หลายรูปแบบ เช่น การส่งข้อความแบบส่วนตัว การแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การตกแต่ง Story บน Instagram หรือ Facebook เป็นต้น สามารถกดติดตามและดาวน์โหลดฟรี ได้ที่ giphy.com/channel/safeSEXStoryy
“รัก” ให้ตรวจเพื่อทราบสถานะ ตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี ให้เป็นเรื่องปกติ โดยหากมีความเสี่ยงหรือมีอาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อขอรับการตรวจทันที พร้อมทั้งชวนคู่ไปตรวจ ซึ่งสามารถรับการตรวจคัดกรองเอชไอวี และซิฟิลิสที่โรงพยาบาล และหน่วยบริการสุขภาพที่เข้าร่วมโครงการใกล้บ้านท่าน หรือตรวจด้วยตนเองโดย HIV Self-Test
ชี้เป้า ตรวจเอชไอวีและซิฟิลิส ฟรี! เพียง 15 นาทีรู้ผลเลย!
กรมควบคุมโรค โดยกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เชิญชวนชวนวัยรุ่นและเยาวชน (15-24 ปี) ตรวจคัดกรองเอชไอวีและซิฟิลิส สามาถรู้ผลเพียง 15 นาที เข้ารับบริการตรวจได้ที่หน่วยสถานพยาบาล หรือติดต่อเข้ารับบริการที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานป้องกันควบคุมโรค และศูนย์สุขภาพชุมชน ใน 46 จังหวัดทั่วประเทศ ครอบคลุม กว่า 140,000 คน เพื่อให้เยาวชนเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองเพื่อทราบสถานะการติดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิส นำไปสู่บริการป้องกันและดูแลรักษาได้โดยเร็ว
ใครเข้าร่วมโครงการได้บ้าง
เช็กพิกัด 46 จุด ตรวจเอชไอวีและซิฟิลิส ฟรี!
กรุงเทพมหานคร เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน น่าน พิษณุโลก อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ กำแพงเพชร นนทบุรี ปทุมธานี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระยอง จันทบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ชลบุรี ตราด ปราจีนบุรี สระแก้ว ขอนแก่น ร้อยเอ็ด หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี มุกดาหาร อำนาจเจริญ ยโสธร ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร กระบี่ ระนอง พังงา และ สงขลา
นอกจากนี้ จะมีการขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ สำหรับพื้นที่ที่ยังไม่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวฯ หากสนใจเข้าร่วมสามารถติดต่อได้ที่ กลุ่มพัฒนาและส่งเสริมเทคโนโลยีการป้องกัน
โทร 02 590 3217
แบบไหน “เสี่ยง” ที่ควรมาตรวจคัดกรองเอชไอวีและซิฟิลิส
5 ขั้นตอน ตรวจคัดกรองเอชไอวีและซิฟิลิส
1. ศึกษารายละเอียดและสามารถประเมินความเสี่ยงก่อนตรวจคัดกรองได้ที่ Line Official Account “Buddy Square” ID Line : @549vhjtt เพิ่ม QR Line OA BUDDY Square และ QR Code ที่มีชื่อหน่วยบริการและองค์กรภาคประชาสังคม ที่เป็นเครือข่ายหน่วยตรวจคัดกรอง
2. โทรสอบถามรายละเอียดที่กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในพื้นที่ 46 จังหวัด
3. เดินทางไปสถานพยาบาล/โรงพยาบาล ใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการ
4. รับคำปรึกษาเรื่องสุขภาพ จากทีมพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ประเมินพฤติกรรมเสี่ยง และสมัครใจตรวจคัดกรอง เอชไอวีและซิฟิลิส โดยการจาะเลือดปลายนิ้ว แบบรู้ผลเร็วภายใน 15 นาที
5. ข้อมูลของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับ
กรณีผลตรวจคัดกรองเอชไอวี/ซิฟิลิส มีปฏิกิริยาต่อการทดสอบ (Reactive) เจ้าหน้าที่จะส่งต่อเพื่อตรวจยืนยันที่สถานพยาบาล/โรงพยาบาล
- หากผลการตรวจยืนยันเป็นบวก (+) หมายความว่า พบการติดเชื้อเอชไอวี/ซิฟิลิส จะได้รับการส่งต่อเข้าสู่การดูแลรักษา
- หากผลตรวจยืนยันเป็นลบ (-) หมายความว่า ไม่พบการติดเชื้อเอชไอวี/ซิฟิลิส จะได้รับบริการป้องกันเพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการติดชื้อ เช่น บริการปรึกษา ถุงยางอนามัย และอื่น ๆ