กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
Responsive image

กรมควบคุมโรค ร่วมภาคีเครือข่าย ประชุมสร้างความเข้าใจอย่างมีส่วนร่วม พร้อมจัดทำแผนงานการขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างยั่งยืนด้านเอชไอวีประเทศไทย มุ่งยุติเอดส์ภายใน 6 ปี

กรมควบคุมโรค ร่วมภาคีเครือข่าย ประชุมสร้างความเข้าใจอย่างมีส่วนร่วม
พร้อมจัดทำแผนงานการขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างยั่งยืนด้านเอชไอวีประเทศไทย มุ่งยุติเอดส์ภายใน 6 ปี

          วันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพมหานคร นายแพทย์นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นายแพทย์สุริยะ วงศ์คงคาเทพ ประธานคณะกรรมการกลไกความร่วมมือในประเทศ (CCM) Dr. Sara Klucking, PEPFAR Coordinator for the Asia Region และ Ms. Brigitte Quenum, Regional Adviser, Science, Systems and Services) UNAIDS Regional Office, Asia Pacific ร่วมเปิดงานการประชุมเชิงปฏิบัติการการสร้างความเข้าใจอย่างมีส่วนร่วม เพื่อจัดทำแผนงานการขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างยั่งยืนด้านเอชไอวีประเทศไทย (The Thailand’s HIV Response Sustainability Dialogue) ซึ่งได้รับงบประมาณจาก PEPFAR และ UNAIDS ในการจัดประชุม และได้รับสนับสนุนทางด้านวิชาการจากสำนักวิจัยระบบสาธารณสุข และมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ โดยกรมควบคุมโรค กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และองค์การ แฟมิลี่ เฮลท์ อินเตอร์เนชั่นแนล (FHI 360) เป็นเจ้าภาพร่วม สำหรับการประชุมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2567

          การประชุมครั้งนี้ นับเป็นครั้งสำคัญในการสร้างความเข้าใจร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หน่วยงานท้องถิ่น เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี และองค์กรระหว่างประเทศ ในการเสนอแนะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อกำหนดทิศทางที่ชัดเจนและเหมาะสมสำหรับการขับเคลื่อนงานด้านเอชไอวีของประเทศไทย และจัดทำแผนงานที่ยั่งยืน 5 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการนำทางการเมือง 2) ด้านกฎหมายและนโยบายที่เอื้ออำนวย 3) ด้านความยั่งยืนและเท่าเทียมด้านการเงิน  4) ด้านระบบการจัดการ และ 5) ด้านการบริการและแนวทางแก้ปัญหา เพื่อสอดคล้องกับการขับเคลื่อนแผนงานในระดับนานาชาติ รวมทั้งระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายสำคัญ ในการพัฒนาแผนงานที่มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ ส่งเสริมศักยภาพการทำงานให้แก่บุคลากร องค์กร/สถาบัน และองค์กรชุมชน ให้มีทรัพยากรที่เพียงพอ เท่าเทียม และยั่งยืน ในการดำเนินงานด้านเอชไอวีของประเทศไทย นำไปสู่การยุติปัญหาเอดส์ภายใน 6 ปี

 

 

 


ข่าวสารอื่นๆ