สคร.12 สงขลา เตือน ปชช. ระวังป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก แนะยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”
ขณะนี้ ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก และเป็นฤดูที่ เหมาะสมต่อการเพาะพันธุ์ของยุงลาย ที่เป็นพาหนะนำโรคไข้เลือดออก สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เตือนประชาชน ระมัดระวังป่วยโรคไข้เลือดออก แนะใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”
สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 (ข้อมูลจากระบบรายงานการเฝ้าระวังโรค 506 กองระบาดวิทยา) มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือด สะสมรวม 11,938 ราย อัตราป่วย 18.01 ต่อประชากรแสนคน มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต 8 ราย
นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ว่า จากรายงานการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 887 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิต 1 ราย ในจังหวัดยะลา ส่วนจังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือ จังหวัดสงขลา 333 ราย รองลงมา คือ นราธิวาส 181 ราย, ปัตตานี 151 ราย, ยะลา 105 ราย, ตรัง 57 ราย, พัทลุง 51 ราย และสตูล 9 ราย
สคร.12 สงขลา ขอให้ประชาชน ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในบริเวณรอบๆ ตัวบ้านและในชุมชนอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ และยึดตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ดังนี้ 1.เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย
ทั้งนี้ หากประชาชนมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ซึ่งอาจมีลักษณะคล้ายกันหลายโรค ทั้งไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก และโรค COVID-19 ขอให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย รับประทานยาลดไข้ 1-2 วัน ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับการวินิจฉัยโรคและรับการรักษาต่อไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
*********************************************
ข่าวโดย: กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา
E-mail: [email protected] (19 พ.ค. 2563)
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร