สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลา
Responsive image

สคร.12 สงขลา แนะ ทำความรู้จัก โรคสครับไทฟัส ที่เกษตรกรควรระวัง   

สคร.12 สงขลา แนะ ทำความรู้จัก โรคสครับไทฟัส ที่เกษตรกรควรระวัง   

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา  (สคร.12 สงขลา) แนะนำประชาชน ทำความรู้จักโรคสครับไทฟัส (โรคไข้รากสาดใหญ่) ที่เกษตรกรอาจจะไม่คุ้นหูแต่เป็นโรคที่ต้องเฝ้าสังเกตและระวังเป็นพิเศษ พร้อมเน้นย้ำ ควรป้องกันตนเองไม่ให้ถูกไรอ่อนกัด ด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด ร่วมกับการใช้ยาทากันแมลง      

นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า โรคสครับไทฟัส (Scrub typhus) หรือโรคไข้รากสาดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มริกเก็ตเซีย (Rickettsia) ซึ่งมีแหล่งรังโรคเป็นสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระแต กระจ้อน และมีตัวไรอ่อนเป็นพาหะนำเชื้อจากสัตว์ฟันแทะมาสู่คน ไรอ่อนจะอาศัยอยู่ตามกอไม้กอหญ้าใกล้กับพื้นดิน จะกัดคนหรือสัตว์เพื่อกินน้ำเหลืองเป็นอาหาร โดยไรอ่อนจะไต่ไปตามยอดหญ้าแล้วกระโดดเกาะตามเสื้อผ้าของคนและกัดผิวหนังที่สัมผัสกับเสื้อผ้า ปกติเราจะมองไม่เห็นตัวไรอ่อนเพราะมีขนาดเล็กมากราว 1 มิลลิเมตรเท่านั้น ส่วนใหญ่บริเวณที่ถูกกัด คือ รักแร้ ขาหนีบ รอบเอว โรคนี้สามารถติดต่อมาสู่คนได้โดยถูกไรอ่อนที่มีเชื้อกัด และสามารถพบได้ทุกฤดูแต่จะพบมากในช่วงฤดูฝน พบมากในพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ พื้นที่เกษตรใกล้ป่า สวนยางพารา สวนผลไม้ ไร่นา ทุ่งหญ้า และพุ่มไม้เตี้ยๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกษตรกรเข้าไปทำงาน  

ทั้งนี้ หากถูกตัวไรอ่อนที่มีเชื้อกัดประมาณ 10-12 วัน จะมีอาการ ปวดศีรษะ มีไข้ หนาวสั่น ไอ ตาแดง คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย และบริเวณที่ถูกกัดอาจจะมีผื่นแดงขนาดเล็กค่อยๆ นูน หรือใหญ่ขึ้น และอาจจะพบแผลคล้ายบุหรี่จี้ (Eschar) แต่จะไม่ปวดและไม่คัน ผู้ป่วยบางรายอาจหายได้เอง แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ เช่น ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ และอาจทำให้เสียชีวิตได้

นายแพทย์เฉลิมพล กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคสครับไทฟัส ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ควรป้องกันตนเองไม่ให้ถูกไรอ่อนกัด เมื่อต้องเข้าพื้นที่เกษตรใกล้ป่า สวนยางพารา สวนผลไม้ ไร่นา ทุ่งหญ้า ควรสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด เช่น เสื้อที่ปิดคอ เสื้อแขนยาว และกางเกงขายาว และทายากันยุง ส่วนที่อยู่นอกร่มผ้าให้ใช้ยาทากันแมลง โลชั่นกันยุง, สเปรย์กันยุง หรือใช้สมุนไพรทากันยุง ซึ่งจะสามารถป้องกันตัวไรอ่อนกัดได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ขอให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณที่มีตัวไรอ่อนชุกชุม สวนยางพารา สวนผลไม้ ไร่นา ทุ่งหญ้า หรือบริเวณต้นไม้ใหญ่ที่แสงแดดส่องไม่ถึง หลังออกจากป่าให้อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย สระผม และนำเสื้อผ้าที่สวมใส่มาซักให้สะอาดด้วยผงซักฟอกเข้มข้น เพราะอาจมีตัวไรอ่อนติดมากับร่างกายหรือเสื้อผ้าได้ ทั้งนี้ ให้สังเกตอาการทุกครั้งหลังออกจากพื้นที่เสี่ยง หากมีอาการไข้และอาการข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเข้าพื้นที่เสี่ยงให้แพทย์ทราบ โดยเฉพาะถ้าพบแผลลักษณะคล้ายบุหรี่จี้ จะช่วยในการวินิจฉัยของแพทย์ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422   

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ