สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลา
Responsive image

สคร. 12 สงขลา เตือนหน้าฝน เสี่ยงป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา เน้นย้ำ หญิงตั้งครรภ์ ป้องกันอย่าให้ยุงลายกัด

สคร. 12 สงขลา เตือนหน้าฝน เสี่ยงป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา

เน้นย้ำ หญิงตั้งครรภ์ ป้องกันอย่าให้ยุงลายกัด

 

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา (สคร.12 สงขลา) ห่วงหน้าฝน มีการระบาดของโรคที่นำโดยยุงลาย เช่น โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา  โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ต้องระวัง  หากติดเชื้อไวรัสซิกาจะมีผลกระทบรุนแรงต่อเด็กที่อยู่ในครรภ์ พร้อมแนะป้องกันอย่าให้ยุงลายกัด ด้วยมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค  

นายแพทย์เฉลิมพล  โอสถพรมมา  ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึง สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ในพื้นที่ 7 จังหวัด ภาคใต้ตอนล่าง (วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่  6 กันยายน 2566 ) มีรายงานผู้ป่วย จำนวน 2 ราย อายุ 36 ปี อาชีพรับจ้าง และ 55 ปี อาชีพแม่บ้าน ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต ทั้ง 2 ราย พบในจังหวัดสงขลา

โรคติดเชื้อไวรัสซิกา เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกา อยู่ในตระกูลเดียวกับไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเดงกี การติดต่อของโรคนี้จากการถูกยุงลายที่มีเชื้อกัด ระยะฟักตัวในคนประมาณ 3 – 12 วัน หลังจากนั้นจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ มีผื่นแดงที่บริเวณลำตัว แขนขา เยื่อบุตาอักเสบ ตาแดง ปวดข้อ อ่อนเพลีย และที่สำคัญหากหญิงตั้งครรภ์ได้รับเชื้อสามารถติดต่อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ ทำให้เด็กที่คลอดออกมามีภาวะศีรษะเล็กหรือมีอาการผิดปกติทางสมอง หากมีอาการขณะตั้งครรภ์ให้รีบไปพบแพทย์ โรคติดเชื้อไวรัสซิกาสามารถติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อได้ด้วย ปัจจุบันโรคติดเชื้อไวรัสซิกายังไม่มีวัคซีนป้องกัน หากป่วยจะรักษาตามอาการ

นายแพทย์เฉลิมพล กล่าวเพิ่มเติมว่า การป้องกันที่สำคัญที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด ด้วยการนอนในมุ้ง และทายากันยุง ใช้มาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ได้แก่ 1.เก็บบ้านให้สะอาดจะป้องกันไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก 2.เก็บภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ 3.เก็บขยะภายในบริเวณบ้านให้เรียบร้อยไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งมาตรการนี้ยังสามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกและโรคไข้ปวดข้อยุงลายได้อีกด้วย สำหรับหญิงตั้งครรภ์ต้องระมัดระวังไม่ให้ถูกยุงกัด ทายากันยุง และฝากครรภ์พบแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามพัฒนาการทารกในครรภ์ หากมีการติดเชื้อไวรัสซิกาอาจทำให้ทารกแรกเกิดมีความผิดปกติ เกิดภาวะศีรษะเล็ก และพัฒนาการช้าได้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

 

 

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ