สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลา
Responsive image

สคร.12 สงขลา เตือน ไอกรนโรคร้าย ไม่ฉีดวัคซีนอันตรายถึงตาย แนะ เด็กอายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไป ต้องฉีดวัคซีนป้องกัน หลังพบผู้ป่วยต่อเนื่อง

สคร.12 สงขลา เตือน ไอกรนโรคร้าย ไม่ฉีดวัคซีนอันตรายถึงตาย 

แนะ เด็กอายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไป ต้องฉีดวัคซีนป้องกัน หลังพบผู้ป่วยต่อเนื่อง

          สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา (สคร.12 สงขลา) เตือน ระวังอันตรายจากโรคไอกรน ขณะนี้กำลังระบาดในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 2 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ สะบ้าย้อย และเทพา เน้นย้ำ ผู้ปกครองต้องพาบุตรหลานที่มีอายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไป ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรน หากมีไข้ต่ำๆ มีน้ำมูก ไอผิดปกติ ไอเป็นชุดๆ ติดต่อกัน 5-10 ครั้ง จนทำให้หายใจไม่ทัน หายใจมีเสียงดังวู๊ป อาจป่วยเป็นโรคไอกรน ให้รีบไปพบแพทย์ด่วน      

          นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า สคร.12 สงขลา ได้รับรายงานข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (ตั้งแต่ 13 สิงหาคม 2566 – 6 กุมภาพันธ์ 2567) ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 พบผู้ป่วยโรคไอกรน 639 ราย จำแนกเป็น ปัตตานี 250 ราย ยะลา 245 ราย นราธิวาส 132 ราย และสงขลา 12 ราย เสียชีวิตแล้ว 7 ราย ในจังหวัดนราธิวาส 3 ราย ปัตตานี 2 ราย และยะลา 2 ราย ทั้งนี้ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรน หรือฉีดแล้วแต่ไม่ครบตามที่กำหนด  โดยโรคไอกรน เป็นโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (B. pertussis) ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ ติดต่อกันได้ง่ายจากการไอ จาม สัมผัสกับสารคัดหลั่งและเครื่องใช้ของผู้ป่วย ส่วนใหญ่พบการติดเชื้อในเด็ก ซึ่งอาการของโรคไอกรนในเด็กอาจรุนแรงมากจนทำให้เสียชีวิตได้ โดยอาการของโรคจะแสดงหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 6-20 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำๆ มีน้ำมูก และไอเป็นชุดๆ ถี่ๆ ติดกัน 5-10 ครั้ง หรือมากกว่า ทำให้ผู้ป่วยหายใจไม่ทัน และเสียงหายใจดังวู๊ป สลับกับการไอเป็นชุด บางรายอาจเป็นเรื้อรังนาน 2 ถึง 3 เดือน     

          นายแพทย์เฉลิมพล กล่าวเพิ่มเติมว่า หากมีผู้ป่วยไอกรนในบ้าน ควรแยกผู้ป่วยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่บุคคลอื่น โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังไม่ฉีดวัคซีน หรือฉีดไม่ครบ 3 เข็ม ต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ในผู้สัมผัสโรคควรสังเกตอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก อย่างน้อย 2 สัปดาห์ หากมีอาการควรรีบไปพบแพทย์ทันที การระบาดของโรคไอกรนในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างในขณะนี้ ผู้ป่วยไม่ได้รับวัคซีน และเด็กมักได้รับเชื้อจากผู้ใหญ่ที่ป่วยและมีอาการไอ เนื่องจากในผู้ใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรงและไม่ได้ไปพบแพทย์ เพื่อรักษา ทำให้มีการระบาดในครอบครัว

          การฉีดวัคซีนในพื้นที่ระบาด โดยพาบุตรหลานไปฉีดเข็ม 1 เมื่ออายุ 6 สัปดาห์ เข็ม 2 และเข็ม 3 ห่างจากเข็มก่อนหน้า 4 สัปดาห์ เข็ม 4 เมื่ออายุอย่างน้อย 15 เดือน และเข็ม 5 เมื่ออายุครบ 4 ปี สำหรับหญิงตั้งครรภ์มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีน เพื่อให้ลูกในท้องที่คลอดมามีความปลอดภัยจากโรคไอกรน โดยสามารถฉีดได้เมื่ออายุครรภ์ 16 สัปดาห์ขึ้นไป หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 

 

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ