สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลา
Responsive image

สคร. 12 สงขลา เตือน ระวังโรคหัด ในเด็กเล็ก เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต  เน้นย้ำ ผู้ปกครองนำบุตรหลานฉีดวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์   

สคร. 12 สงขลา เตือน ระวังโรคหัด ในเด็กเล็ก เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต 

เน้นย้ำ ผู้ปกครองนำบุตรหลานฉีดวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์   

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา (สคร.12 สงขลา) เตือนระวังโรคหัดในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง หลังพบผู้ป่วยโรคหัดเพิ่มขึ้น เด็กเล็กหากไม่ได้รับวัคซีน เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต เน้นย้ำ ผู้ปกครองนำบุตรหลานฉีดวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์    

นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคหัดมีแนวโน้มสูงขึ้นในพื้นที่ที่มีความครอบคลุมของวัคซีนต่ำ โดยสถานการณ์โรคหัดในประเทศไทย (วันที่ 1 ม.ค. - 22 ก.พ. 2567) พบรายงานผู้ป่วย 140 ราย สำหรับในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 (วันที่ 1 ม.ค. – 24 ก.พ. 2567) พบผู้ป่วย 64 ราย สูงสุดในจังหวัดปัตตานี 58 ราย รองลงมา ยะลา 3 ราย และสงขลา 3 ราย พบผู้ป่วยสูงในช่วงอายุ 0 - 4  ปี และพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่กำหนด (ร้อยละ 71.9)     

โรคหัด เป็นโรคติดเชื้อไวรัสหัด (Measles) ในระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยจะเกิดผื่นขึ้นตามผิวหนังพร้อมเป็นไข้ร่วมด้วย พบได้ทุกวัยและพบได้บ่อยในเด็กเล็ก อายุ 0 - 6 ปี โดยเฉพาะเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนสามารถแพร่เชื้อและติดต่อกันได้ง่ายมาก ผ่านทางอากาศหรือการสัมผัสน้ำมูกและน้ำลายของผู้ป่วยโดยตรง 

ผู้ป่วยโรคหัด จะเริ่มมีอาการไข้ หลังได้รับเชื้อประมาณ 10 - 12 วัน ในระยะเริ่มแรกจะมีอาการคล้ายไข้หวัด มักตัวร้อนและอาจมีไข้สูงถึง 40องศาเซลเซียส มีน้ำมูกไหล ไอบ่อย เจ็บคอ ตาแดงเยิ้ม หลังจากนั้นประมาณ 3 - 5 วัน จะมีผื่นแดงขึ้นตามใบหน้า เหนือไรผม แล้วกระจายไปลำตัว แขน ขา บางรายอาจมีตุ่มแดงที่มีสีขาวตรงกลาง ขึ้นในกระพุ้งแก้ม ควรรีบไปพบแพทย์ หากมีภาวะรุนแรงและแทรกซ้อน เพื่อได้รับการรักษาทันท่วงที 

โรคหัดป้องกันได้ ด้วยการนำบุตรหลานไปฉีดวัคซีน MMR (Measles-Mumps-Rubella  Vaccine)  จำนวน เข็ม โดย ฉีดเข็มแรก เมื่ออายุ 9 - 12 เดือน และ เข็มที่ 2 เมื่ออายุ 1 ปี 6 เดือน ซึ่ง วัคซีนดังกล่าว  สามารถป้องกันทั้งโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน

สคร.12 สงขลา ห่วงใยบุตรหลานของพี่น้องประชาชน ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโรคหัด ควรพามาฉีดวัคซีนโดยด่วน ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ฟรี และหากเด็กในปกครอง มีไข้ ไอ ตาแดง และมีผื่นแดงบริเวณใบหน้าและร่างกาย ให้แยกเด็กออกไม่ให้สัมผัสกับเด็กอื่น เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ พร้อมยึดหลัก D-M-H เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อย ๆ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคหัด สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422 

 

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ