สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลา
Responsive image

สคร.12 สงขลา เตือน ระวัง “ฮีทสโตรก” จากอากาศร้อน   อันตรายถึงชีวิต แนะหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดที่ร้อนจัด  

สคร.12 สงขลา เตือน ระวัง ฮีทสโตรก จากอากาศร้อน  

อันตรายถึงชีวิต แนะหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดที่ร้อนจัด  

            ด้วยขณะนี้ประเทศไทยมีสภาพอากาศที่ร้อน สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา (สคร.12 สงขลา) ห่วงใยพี่น้องประชาชน เตือนระวังป่วยโรคลมแดดหรือ “ฮีทสโตรก” จากอากาศร้อน โดยเฉพาะ 6 กลุ่มเสี่ยง ขอให้ดูแลสุขภาพของตนเอง และหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดที่ร้อนจัดหรืออุณหภูมิสูง หากจำเป็นต้องอยู่กลางแดดให้กางร่มหรือสวมหมวก และควรดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ

            นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึง สถานการณ์โรคลมแดด ปี 2565 -2567 (ข้อมูล ณ วันที่ 6 มีนาคม 2567) ประเทศไทยพบผู้ป่วย 95 ราย, 205 ราย และ 25 ราย ตามลำดับ สำหรับเขตสุขภาพที่ 12 พบผู้ป่วย 3 ราย, 4 ราย และ 1 ราย ตามลำดับ ด้วยขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน ทำให้สภาพอากาศโดยทั่วไปมีอุณหภูมิสูงขึ้นในหลายพื้นที่ โดยกรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายค่าดัชนีความร้อน หรือ Heat Index ซึ่งอุณหภูมิที่คนรู้สึกได้ถึงอากาศร้อนในขณะนั้น ในช่วงวันที่ 5-6 มีนาคม 2567 พบว่าอุณหภูมิสูงสุด ช่วงดังกล่าว สูงถึง 51.4 องศาเซลเซียส ที่จังหวัดชลบุรี  สำหรับภาคใต้พบว่าอุณหภูมิสูงสุด ในจังหวัดภูเก็ต 48.3 องศาเซลเซียส และจังหวัดกระบี่ 42.5 องศาเซลเซียส ซึ่งอยู่ในระดับอันตราย (กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม)

            สำหรับประชาชน กลุ่มเสี่ยงที่อาจเจ็บป่วยจากโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) ได้แก่ 1.ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด 2.เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีและผู้สูงอายุ 3.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคความดันโลหิตสูง 4.ผู้ที่มีภาวะอ้วน 5.ผู้ที่นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ และ 6.ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ทำให้เส้นเลือดฝอยขยายตัวมากขึ้น ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น อาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้   

            ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการ “ฮีทสโตรก” จะมีอาการตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อย ๆ อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นจนเกิน 40 องศาเซลเซียส แต่ไม่มีเหงื่อออก ทำให้เกิดอาการหน้ามืด เพ้อ กระสับกระส่าย มึนงง หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ชักเกร็ง ช็อก จนถึงหมดสติ  หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้ ควรให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ต้องรีบนำผู้ป่วยเข้าในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก ให้ดื่มน้ำเย็น ให้นอนราบและยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นสูง ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามหน้าผาก ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ ร่วมกับใช้พัดลมเป่าช่วยระบายความร้อน เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงโดยเร็วที่สุด ถ้ามีอาการรุนแรง หมดสติ ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที หรือโทรสายด่วน 1669    

            สคร.12 สงขลา ขอแนะนำประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเอง ด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ระบายความร้อนได้ดี ควรอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ลดหรือเลี่ยงทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงกลางแจ้งนาน ๆ สวมแว่นกันแดด กางร่ม สวมหมวกปีกกว้าง ควรดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ เพื่อชดเชยการเสียน้ำในร่างกายจากเหงื่อออก หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด และอย่าทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดไว้กลางแจ้ง เนื่องจากอุณหภูมิภายในรถจะสูงกว่าภายนอก ส่วนผู้ที่ออกกำลังกาย ควรเลือกในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อนมาก และเป็นเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ